เจตี
แคว้นเจตี Chedi Kingdom | |
---|---|
600 BCE–300 BCE | |
แคว้นกาสี และมหาชนบทแคว้นอื่นๆใน ยุคพระเวท ปลาย | |
เมืองหลวง | โสตถิยนคร |
การปกครอง | ราชาธิปไตย |
ยุคประวัติศาสตร์ | Ancient India |
• ก่อตั้ง | 600 BCE |
• สิ้นสุด | 300 BCE |
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | อินเดีย |
แคว้นเจตี (อักษรโรมัน: Chedi สันสกฤต:चेदी) เกี่ยวกับแคว้นนี้ หลักฐานต่าง ๆ มีอยู่น้อย ที่ตั้งของแคว้นก็ไม่ได้บอกไว้ให้ชัดเจน ชื่อของเมืองหลวงก็ไม่ได้รับการกล่าวถึง อย่างไรก็ตามจากหลักฐานเท่าที่มี ก็พอทำให้นักประวัติศาสตร์ และโบราณคดีลงความเห็นได้ว่า แคว้นนี้ตั้งอยู่ทางใต้ของแคว้นวังสะ และตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นกาสี ในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า บุนเดลขัณฑ์ คือดินแดนเริ่มแต่แม่น้ำยมุนา ทางทิศเหนือ จดแม่น้ำนัมมทา หรือนรมทา ทางทิศใต้ จดแม่น้ำเบตวา ทางทิศตะวันตก จดแม่น้ำโตน หรือเลยออกไปอีกจนถึงแม่น้ำโสณะ หรือโซน ทางทิศตะวันออกหรือเรียกอีกอย่างว่า ได้แก่พื้นที่ในตอนใต้ของรัฐอุตตรประเทศ กับตอนเหนือของรัฐมัธยประเทศในปัจจุบัน[1][2] ขชุราโห อันลือชื่อของอินเดีย ก็อยู่ในเขตที่เรียกว่า บุนเดลขัณฑ์นี้ อาณาเขตของแคว้นเจตีในพุทธสมัย จะครอบคลุมเนื้อที่ประมาณเท่าใด ในบริเวณดังกล่าวนี้ ยังไม่มีการลงความเห็นกันแน่นอน เป็นหนึ่งในมหาชนบท 16 แคว้น[3]
ในอรรถกถา เวติยชาดก หรือ เจติยราชชาดก มีกล่าวถึงชื่อเมืองหลวงของแคว้นเจตีว่า ชื่อโสตถิวดี หรือ โสตถิยนคร แต่นั่น เป็นการกล่าวถึงเรื่องในอดีตชาติ หรืออดีตสมัย ไม่ใช่สมัยของพระพุทธองค์ ผู้รู้บางคนให้ความเห็นว่า เมืองโสตถิวดีนี้อยู่ในเขตจังหวัดบันดา ทางใต้ของรัฐอุตตรประเทศ ใกล้ ๆ กับจังหวัดอัลลฮาบาด ขณะนี้เมืองสำคัญของแคว้นเจตีอีกเมืองหนึ่ง ซึ่งปรากฏชื่อ คือเมือง สหชาติ พระพุทธองค์เคยเสด็จประทับ และแสดงพระธรรมเทศนาแก่ชาวเจตีเป็นจำนวนมากที่นี่ คราวทำทุติยสังคายนา พระยสเถระกัณฑกบุตรผู้ริเริ่มชักชวนสงฆ์ ได้ติดตามมาพบท่านพระเรวตเถระ ผู้เป็นกำลังสำคัญที่สุดองค์หนึ่งในการสังคายนาดังกล่าวที่เมืองสหชาตินี้ จากการได้พบวัตถุหลักฐานบางอย่างที่หมู่บ้าน ภีตา นอกเมืองอัลลฮาบาดไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 16 กิโลเมตร (10 ไมล์) ทำให้นักโบราณคดีมีความเห็นว่า หมู่บ้าน ดังกล่าวคือที่ตั้งเมืองสหชาติที่ซึ่งควรระบุอีกแห่งหนึ่งของแคว้นเจตีนี้ก็คือ ปาจีนวังสะทายะ หรือ ปาจีนวังสะมิคทายะ ซึ่งในอังคุตตรนิกายและวินัยปิฏกกล่าวว่า เป็นที่สำเร็จพระอรหัตของ ท่านพระอนุรุทธะ พระพุทธองค์ได้เสด็จมาเยี่ยมพระอนุรุทธะที่นี่ ก่อนที่จะเสด็จต่อไปยังป่าปาริไลยกะ ในคราวที่พระสงฆ์เมืองโกสัมพีทะเลาะกัน ดังที่จะได้กล่าวถึงข้างหน้า โอกาสนั้นได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ว่าด้วยมหาปุริสวิตก 8 ประการ แด่ท่านพระอนุรุทธะ ดังที่มีปรากฏในอนุรุทธสูตร หรือ มหาปุริสวิตักกสูตร พระอนุรุทธะได้สดับพระธรรมเทศนาแล้ว ตั้งใจบำเพ็ญเพียรต่อไป ไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตผล นอกจากที่กล่าวแล้วนี้ พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จเยี่ยมปาจีนวังสทายะนี้อีกหลายโอกาสด้วยกันป่าปาริไลยกะ เป็นชื่อหนึ่งที่เรารู้จักกันดี ดูตามระยะการเสด็จของพระพุทธองค์แล้ว ก็น่าจะเห็นว่าอยู่ในเขตเจตี แต่คงเพราะไม่มีที่บอกไว้ชัดว่าอยู่ในแคว้นใด จึงกล่าวกันว่าอยู่ในแคว้นเจตีบ้าง แคว้นวังสะบ้าง ครั้งนั้นพระพุทธองค์เสด็จจากโกสัมพีสู่พาลกโลณการาม ซึ่งกล่าวว่าอยู่ในแคว้นวังสะ จากนั้นจึงเสด็จไปปาจีนวังสทายะ แล้วเสด็จต่อไปยังปาริไลยกะ ประทับจำพรรษาที่ 10 อยู่ ณ ที่นั้นแต่พระองค์เดียว[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Raychaudhuri, Hem Chandra (1923), Political history of ancient India, from the accession of Parikshit to the extinction of the Gupta dynasty, p. 66
- ↑ Raychaudhuri, Hem Chandra (1923), Political history of ancient India, from the accession of Parikshit to the extinction of the Gupta dynasty, p. 66
- ↑ Raychaudhuri, Hem Chandra (1923), Political history of ancient India, from the accession of Parikshit to the extinction of the Gupta dynasty, p. 67
- ↑ มหาชนบท 16 แคว้น แคว้นสำคัญในชมพูทวีปสมัยพุทธกาล จากเว็บ vichadham.com
- "The Mahabharata". sacred-texts.com.
- Kisari Mohan Ganguli, The Mahabharata of Krishna-Dwaipayana Vyasa Translated into English Prose, 1883-1896.