Nothing Special   »   [go: up one dir, main page]

พระโคตมพุทธเจ้า

ศาสดาของศาสนาพุทธ

พระโคตมพุทธเจ้า (ออกเสียง: โค-ตะ-มะ) มีพระนามเดิมในภาษาบาลีว่า สิทฺธตฺถ โคตม หรือในภาษาสันสกฤตว่า สิทฺธารฺถ เคาตมะ (อ่านว่า /สิดทาด —/) (เทวนาครี: सिद्धार्थ गौतम) เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ผู้เป็นศาสดาของศาสนาพุทธ สาวกของพระองค์ไม่นิยมออกพระนามโดยตรง แต่เรียกตามพระสมัญญาว่า "ภควา" (พระผู้มีพระภาคเจ้า)[1]

พระโคตมพุทธเจ้า
ข้อมูลทั่วไป
พระนามเดิมสิทธัตถะ
พระนามอื่นอังคีรส โคดม ศากยมุนี
วันประสูติขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 80 ปีก่อนพุทธศักราช
สถานที่ประสูติลุมพินีวัน
สถานที่บวชริมฝั่งแม่น้ำอโนมา
สถานที่บรรลุธรรมใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ตำแหน่งพระพุทธเจ้า
ก่อนหน้าพระกัสสปพุทธเจ้า
ถัดไปพระเมตไตรยพุทธเจ้า
ปรินิพพานขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (ตามคติเถรวาท)
สถานที่ปรินิพพานกุสินารา
ฐานะเดิม
ชาวเมืองกบิลพัสดุ์
พระบิดาพระเจ้าสุทโธทนะ
พระมารดาพระนางสิริมหามายา
วรรณะเดิมกษัตริย์
ราชวงศ์โอกกากะ
สถานที่รำลึก
สถานที่สังเวชนียสถาน 4 ตำบล คือ ลุมพินีวัน พุทธคยา สารนาถ กุสินารา
อารามสำคัญ คือ วัดเวฬุวัน วัดเชตวัน
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

คัมภีร์พุทธศาสนาทั้งนิกายเถรวาท นิกายมหายาน และนิกายวัชรยาน บันทึกตรงกันว่า พระโคตมพุทธเจ้าทรงประสูติ 623 ปี ก่อนคริสต์ศักราช พระองค์ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ระหว่าง 80 ปีก่อนพุทธศักราช จนถึงเริ่มพุทธศักราชซึ่งเป็นวันปรินิพพาน ตรงกับ 543 ปี ก่อนคริสตกาลตามตำราไทยซึ่งอ้างอิงปฏิทินสุริยคติไทยและปฏิทินจันทรคติไทย และตรงกับ 483 ปีก่อนคริสตกาลตามปฏิทินสากล[2]

พระโคตมพุทธเจ้าเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายาแห่งแคว้นสักกะ โคตมโคตร อันเป็นราชสกุลวงศ์ที่ปกครองกรุงกบิลพัสดุ์มาช้านาน ก่อนออกผนวชทรงดำรงพระอิสสริยยศเป็นรัชทายาท เมื่อเสด็จออกผนวชและบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงได้รับการถวายพระนามต่าง ๆ อาทิ พระศากยมุนี, พระพุทธโคดม, พระโคดมพุทธเจ้า ฯลฯ แต่ทรงเรียกพระองค์เองว่า ตถาคต แปลว่า พระผู้ไปแล้วอย่างนั้น[3] คือ ทรงปฏิญาณว่า ทรงพ้นจากทุกข์ทั้งปวง สำเร็จแล้วซึ่งอรหัตผล[4]

พุทธประวัติ

แก้

พระประสูติกาล

แก้
 
เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ

ในคืนที่พระโพธิสัตว์เสด็จปฏิสนธิในครรภ์พระนางสิริมหามายา พระนางทรงพระสุบินนิมิตว่า มีช้างเผือกมีงาสามคู่ ได้เข้ามาสู่พระครรภ์ ณ ที่บรรทม สิบเดือนหลังจากนั้น ขณะทรงพระครรภ์แก่ ได้ทรงขอพระราชานุญาตจากพระสวามีเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะอันเป็นพระมาตุภูมิ เพื่อให้การประสูติเป็นไปตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ระหว่างเสด็จกลับพระมาตุภูมิ พระนางได้ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละในสวนป่าลุมพินี[5] ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี พระโอรสก็ได้ประสูติ เมื่อประสูติแล้ว พระราชกุมารนั้นทรงพระดำเนินได้ 7 ก้าวทันที พร้อมทั้งเปล่งอาสภิวาจา ว่า "เราเป็นผู้เลิศ เป็นผู้เจริญ เป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก การเกิดของเราครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว"[6] อนึ่ง ทั้งสวนป่าลุมพินีและกรุงกบิลพัสดุ์ในปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล[7]

หลังจากมีพระประสูติกาลแล้ว 3 วัน มีฤๅษีตนหนึ่งนามว่า "อสิตะ" ได้เข้าเยี่ยมพระราชกุมาร เมื่อพิจารณาดูก็พยากรณ์ว่าพระราชกุมารนี้จะได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณอย่างแน่นอน[8]

เมื่อพระชนมายุ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้เชิญพราหมณ์มา 108 คนเพื่อถวายพระนามพระราชกุมาร จึงได้พระนามว่า "สิทธัตถะ" จากนั้น พระเจ้าสุทโธทนะได้เชิญพราหมณ์ 8 คนเข้าพิจารณาพระลักษณะของพระกุมารเพื่อถวายคำพยากรณ์ พราหมณ์ 7 คนในจำนวนนั้นทำนายเป็น 2 สถาน คือหากพระราชกุมารครองราชย์จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หากผนวชจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เว้นแต่พราหมณ์อายุน้อยสุดชื่อ "โกณฑัญญะ" พยากรณ์ว่า พระราชกุมารจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน[9]

หลังจากที่มีพระประสูติกาลแล้ว 7 วัน พระพุทธมารดาก็เสด็จสวรรคต ในปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสกล่าวว่า เป็นเพราะพระครรภ์ของพระพุทธมารดาไม่ควรจะเป็นที่เกิดของสัตว์ใดอีก และจึงจักต้องเสด็จสู่สวรรคาลัย พระราชกุมารจึงต้องอยู่ในการดูเแลของพระนางปชาบดีโคตมี หรือพระมหาปชาบดีโคตมีเถรีในเวลาต่อมา

เจ้าชายสืบราชสมบัติ

แก้

เจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร ทรงเจริญวัยด้วยความสุขยิ่ง เพราะทรงถือกำเนิดในราชตระกูลภายใต้เศวตฉัตร และได้ทรงศึกษาในสำนักอาจารย์วิศวามิตร ซึ่งเป็นสำนักที่มีชื่อเสียงที่สุด เจ้าชายได้ทรงศึกษาอย่างรวดเร็ว และจบหลักสูตรสิ้นทุกประการ คือ จบศิลปศาสตร์ทั้ง 18 สาขาวิชา

อย่างไรก็ตาม พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงปริวิตกต่อคำทำนายของพราหมณ์หนุ่มที่ว่าเจ้าชายจะทรงออกผนวชแน่นอน จึงทรงจัดการเตรียมความพร้อมสำหรับการราชาภิเษกให้เจ้าชายขึ้นครองราชย์ พร้อมสร้างปราสาท 3 ฤดูให้ประทับ เมื่อพระชมน์ได้ 16 พรรษา ได้เข้าสู่พิธีอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธราพิมพา ผู้เป็นธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ กษัตริย์ผู้ครองราชสมบัติกรุงเทวทหะ จนพระชนมายุได้ 29 พรรษา จึงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งพระนามว่าพระราหุล ซึ่งแปลว่า บ่วง

มหาภิเนษกรมณ์

แก้

ตามนัยอรรถกถา

แก้
 
เทวทูตทั้ง 4

เหตุการณ์การออกผนวชจากหลักฐานชั้นอรรถกถากล่าวว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเจริญวัยจนมีพระชนมายุได้ 29 พรรษาแล้ว ทรงเสพสุขอยู่บนปราสาท 3 ฤดู มีความสุขทางโลกบริบูรณ์[10] จนวันหนึ่งได้เสด็จประพาสอุทยาน ครั้งนั้นเทวดาได้เนรมิตเทวทูต 4 อันได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง 4 ก็ทรงบังเกิดความสังเวชในพระทัย และใคร่เสด็จออกผนวชเป็นสมณะ

วันที่เจ้าชายราหุลประสูตินั้น เป็นวันที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา ด้วยทรงเบื่อในเพศฆราวาสอันเต็มไปด้วยกิเลส จึงทรงเห็นว่าเพศบรรพชิตเท่านั้นที่ประเสริฐ และเป็นสามารถจะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ เมื่อตัดสินพระทัยจะออกผนวช จึงตรัสให้นายฉันนะเตรียมม้าพระที่นั่ง แล้วเสด็จไปเยี่ยมพระโอรสและพระชายา เมื่อพระองค์เห็นพระนางพิมพาบรรทมหลับสนิทพระกรกอดโอรสอยู่ ทรงพระดำริจะอุ้มพระโอรสขึ้นชมเชยเป็นครั้งสุดท้าย แต่ก็เกรงว่าพระนางพิมพาจะตื่นบรรทม เป็นอุปสรรคขัดขวางการเสด็จออกบรรพชา จึงตัดพระทัยระงับความเสน่หาในพระโอรสเสด็จออกจากห้อง เสด็จลงจากปราสาทพบนายฉันนะซึ่งเตรียมม้ากัณฐกะเป็นม้าพระที่นั่งไว้แล้ว เสด็จออกจากพระนครในเวลาเที่ยงคืน[11] เข้าเขตแดนแคว้นโกศลและแคว้นวัชชี จนถึงฝั่งแม่น้ำอโนมาในคืนนั้น เมื่ออาทิตย์ขึ้นแล้วจึงทรงครองบาตรและจีวรที่ฆฏิการพรหมนำมาถวาย[12] ขณะนั้นตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 จากนั้น ทรงส่งนายฉันนะให้นำเครื่องทรงกษัตริย์กลับนคร แล้วเสด็จลำพังโดยพระองค์เดียว มุ่งพระพักตร์ไปยังแคว้นมคธ

ตามนัยพระบาลี (พระไตรปิฎก)

แก้

เหตุการณ์การออกผนวชจากหลักฐานชั้นต้นคือพระไตรปิฎกกล่าวว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะอายุได้ 29 พรรษา ทรงพระดำริว่า

...มนุษย์ทั้งหลายมีความทุกข์เกิดขึ้นครอบงำอยู่ตลอดเวลาก็จริง เกลียดความทุกข์อยู่ตลอดเวลาก็จริง
แต่ทำไมมนุษย์ทั้งหลายยังมัวแสวงหาทุกข์ร้อนใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วทำไม เราต้องมามัวนั่งแสวงหาทุกข์ใส่ตัวอยู่อีกเล่า!
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค อุปริ. ม. มู. ม. 12/316/316

ความคิดเช่นนี้ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะถึงกับตั้งพระทัยออกผนวชด้วยดำริว่า

เมื่อรู้ว่าการเกิดมี (ทุกข์) เป็นโทษแล้ว เราพึงแสวงหา "นิพพาน" อันไม่มีความเกิด อันเป็นธรรมที่เกษมจากเครื่องร้อยรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าเถิด

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค มู. ม. 12/316/316

นอกจากนี้ ในสคารวสูตร มีพระพุทธพจน์ตรัสสรุปสาเหตุที่ทำให้ทรงตั้งพระทัยออกบรรพชาไว้สั้น ๆ ว่า

ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี, ส่วนบรรพชาเป็นโอกาสแสงสว่าง; ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวเหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้วโดยง่ายนั้นไม่ได้. ถ้าไฉนเราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเรือนเถิด

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. สคารวสุตฺต พฺราหฺมณวคฺค ม. มู.13/669/738

ด้วยเหตุดังกล่าวทั้งหลายนี้พระองค์จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จออกผนวช ซึ่งนักวิชาการพุทธศาสนาบางท่านอ้างว่า การเสด็จออกผนวชตามนัยพระไตรปิฎกนั้น มิได้ทรงหนีออกจากพระราชวัง แต่เสด็จออกผนวชเฉพาะพระพักตร์พระราชบิดาและพระราชมารดาเลยทีเดียว โดยอ้างจากโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ว่า

...เรายังหนุ่มเทียว เกสายังดำจัด บริบูรณ์ด้วยเยาว์อันเจริญในปฐมวัย เมื่อบิดามารดาไม่ปรารถนาด้วย กำลังพากันร้องไห้น้ำตานองหน้าอยู่ เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว...

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. โพธิราชกุมารสุตฺต ราชวคฺค ม. มู. 13/443/489

ตามพุทธวจนะไม่ได้กล่าวว่าผนวชเฉพาะพระพักตร์พระราชบิดาและพระราชมารดา เพียงแต่ตรัสว่าผนวชขณะทั้งสองพระองค์กรรแสง เพราะทรงหนีจากพระราชวังแล้วผนวชในตอนเช้า เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงทราบในเช้านั้น จึงเสียพระทัย การผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะและการกรรแสงของพระราชบุพการีจึงเป็นเวลาเดียวกัน แต่ต่างสถานที่

เหตุการณ์จากนี้ ในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถาระบุตรงกันว่า เมื่อพระองค์ถือเพศบรรพชิตแล้ว ก็ทรงศึกษาในลัทธิคณาจารย์ต่าง ๆ ซึ่งสมัยนั้นนิยมกัน ส่วนเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครองเพศบรรพชิตแล้ว ทรงถือวัตรปฏิบัติของสมณะ คือปลงผมนุ่งผ้า ย้อมน้ำฝาด (สีเหลืองแก่นขนุน) เลี้ยงชีพด้วยอาหารบิณฑบาต ที่ผู้ต้องการบุญถวายให้ ทรงมีพระนามเรียกขานว่าพระสมณโคดม (คำว่า โคดม มาจากคำว่า โคตมะ ซึ่งเป็นชื่อโคตรของราชวงศ์ศากยะ)

บำเพ็ญเพียรเพื่อการบรรลุธรรม

แก้
 
การบำเพ็ญทุกรกิริยา

พระโพธิสัตว์ได้ทรงศึกษากับอาฬารดาบส กาลามโคตร เมื่อหมดความรู้ของอาจารย์ จึงอำลาไปเป็นศิษย์ในสำนักอุทกดาบส รามบุตร ซึ่งมีความรู้สูงกว่าอาฬารดาบสหนึ่งขั้น คือเป็นผู้บรรลุฌานขั้นที่ 8 พระสมณโคดมทรงใช้เวลาศึกษาไม่นาน ก็สิ้นภูมิรู้ของอาจารย์ ในที่สุด จึงอำลาไปค้นหาวิมุตติธรรมตามแนวทางของพระองค์ ด้วยทรงประจักษ์ว่า นี่ไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้

พระองค์จึงได้ละทิ้งสำนักอาจารย์เหล่านั้นเสีย พระองค์ได้มุ่งหน้าสู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ พร้อมฤๅษี 5 รูป ชื่อว่า โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ เรียกว่า ปัญจวัคคีย์ มาปฏิบัติตนเป็นศิษย์ ด้วยคาดหวังว่า เมื่อพระโพธิสัตว์หลุดพ้นแล้ว จะได้สอนพวกตนให้บรรลุด้วย โดยพระองค์ได้เริ่มการบำเพ็ญเพียรขั้นอุกฤษฏ์ ที่เรียกว่า ทุกกรกิริยา ซึ่งนักบวชสมัยนั้นนิยมปฏิบัติกัน วาระแรก ทรงกัดฟัน นำลิ้นแตะเพดานปากไว้แน่น จนพระเสโท (เหงื่อ) ไหลออกทางพระกัจฉะ (รักแร้) วาระที่ 2 ทรงกลั้นลมหายใจเข้าออก จนเกิดเสียงดังอู้ทางช่องหูทั้งสอง ทำให้ทรงปวดหัว เสียดท้อง และทรงร้อนพระวรกาย การนั่งตากแดดจนผิวเกรียมไหม้ ครั้นฤดูหนาว ก็ลงไปแช่น้ำจนตัวแข็ง พระองค์ได้ทรงทดลองปฏิบัติตามความเชื่อดั้งเดิมทุกวิถีทาง แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุแนวทางค้นพบสัจจธรรมได้

พระองค์เริ่มบำเพ็ญทุกรกิริยาในวาระสุดท้าย คือเริ่มลดอาหารที่ละน้อย ๆ จนถึงขั้นอดอาหาร จนร่างกายซูบซีดผอมแห้ง เหลือแต่หนังและเอ็นหุ้มกระดูก ทรงมาบำเพ็ญเพียรถึงขั้นอุกฤษฏ์ขนาดนี้ นับเป็นเวลาถึง 6 พรรษา ก็ยังไม่สามารถบรรลุธรรม ภายหลังทรงได้แนวพระดำริว่า การบำเพ็ญทุกรกิริยานั้นเป็นการทรมานตนให้ลำบากเปล่า เป็นข้อปฏิบัติที่ตึงเกินไป และไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ แต่มัชฌิมาปฏิปทาคือไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป น่าจะเป็นหนทางแห่งการตรัสรู้ได้ จึงเริ่มเสวยพระกระยาหารดังเดิม เพื่อให้ร่างกายคลายเวทนา มีสมาธิที่จะบำเพ็ญเพียรต่อไป ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 จึงเข้าใจว่า พระบรมโพธิสัตว์ได้ละความเพียร แล้วหันมาบริโภคพระกระยาหารดังเดิม ไหนเลยจะสามารถพบธรรมวิเศษได้ จึงพากันเดินทางจากพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี แคว้นกาสี

พระสุบินนิมิต

แก้

ขณะที่พระบรมโพธิสัตว์บรรทมหลับในยามราตรีของคืนวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 จนเวลาใกล้รุ่ง ทรงสุบินนิมิต 5 ประการ[13] คือ

  1. นอนหงายบนพื้นปฐพี มีเขาหิมพานต์เป็นเขนย (หมอน) พระพาหาซ้ายจมลงไปในมหาสมุทรทิศบูรพา พระพาหาขวาหยั่งลงไปในมหาสมุทรด้านทิศปัจฉิม และพระบาท (เท้า) ทั้งสองหยั่งลงไปในมหาสมุทรด้านทิศทักษิณ
  2. มีหญ้าแพรกเส้นหนึ่งงอกขึ้นจากพระนาภี (สะดือ) สูงขึ้นไปถึงท้องฟ้า
  3. หมู่หนอนเป็นอันมากมีสีขาวบ้าง สีดำบ้าง ไต่ขึ้นมาจากปลายพระบาททั้งคู่ ปิดลำพระชงฆ์ (แข้ง) ตลอดจนถึงพระชานุ (เข่า)
  4. ฝูงนก 4 จำพวก มีสีต่าง ๆ กัน คือ สีเหลือง สีเขียว สีแดง และสีดำ บินมาจากทิศทั้ง 4 ลงมาหมอบแทบพระบาท แล้วกลับกลายเป็นสีขาวไปหมดทั้งสิ้น
  5. พระองค์เสด็จขึ้นไปเดินจงกรมบนยอดภูเขาที่เปรอะเปื้อน เต็มไปด้วยมูตรคูถ (ปัสสาวะอุจจาระ) แต่พระบาทของพระองค์ มิได้เปื้อนด้วยสิ่งเหล่านั้นเลย

เมื่อทรงตื่นจากบรรทมแล้ว พระองค์ก็เริ่มพยากรณ์ไปตามลำดับว่า

  1. พระองค์จะได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นผู้เลิศในโลกทั้ง 3 ได้แก่ กามโลก รูปโลก และอรูปโลก
  2. พระองค์จะได้ทรงประกาศพระธรรมเทศนาอริยมรรคมีองค์ 8 แก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
  3. หมู่คฤหัสถ์ พราหมณ์และชนทั้งหลายที่นุ่งผ้าขาวจะมาสู่สำนักของพระองค์และดำรงอยู่ในไตรสรณคมน์
  4. วรรณะทั้ง 4 (พราหมณ์, กษัตริย์, แพศย์ และ ศูทร) เมื่อสละเพศฆราวาสมาบรรพชาในพระธรรมวินัย และจะได้บรรลุวิมุตติธรรมอันประเสริฐบริสุทธิ์หมดจดผ่องใสโดยเท่าเทียมกัน
  5. พระองค์จะบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะ ที่ชาวโลกทั่วทุกทิศพากันนำมาถวายด้วยศรัทธาเลื่อมใส แต่พระองค์มิได้มีพระทัยติดอยู่ในลาภสักการะเหล่านั้นให้เป็นมลทินแม้แต่น้อย

เมื่อพระองค์ทรงทำนายสุบินนิมิตดังนี้ และทรงทำสรีรกิจส่วนพระองค์เสร็จแล้ว จึงเสด็จไปประทับนั่งพักผ่อนพระอิริยาบถ ณ โคนต้นไทรใหญ่ ซึ่งไม่ไกลจากที่นั้น

นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส

แก้

ขณะที่พระโพธิสัตว์ประทับนั่งขัดสมาธิอยู่นั้น สุชาดา ธิดาของเสนานีกุฎุมพี ได้นำมธุปายาสที่เธอได้หุงไว้มาถวายแด่พระองค์ พร้อมกับถวายบังคมลากลับไป

เมื่อนางสุชาดากลับไปแล้ว พระองค์ได้เสด็จไปที่ริมแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อสรงน้ำและเสวยข้าวมธุปายาสทั้งหมด 49 ก้อน เมื่อเสวยจนหมดแล้ว จึงได้นำถาดทองไปลอยที่แม่น้ำเนรัญชรา ก่อนนำไปลอยได้อธิษฐานว่า

ถ้าเราจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในวันนี้ ขอให้ถาดทองลอยทวนกระแสน้ำเถิด แต่ถ้ายังไม่ตรัสรู้ ก็ขอให้ถาดทองลอยไปตามกระแสน้ำเถิด

— พระสมณโคดม

เมื่ออธิษฐานจบแล้ว ถาดทองได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป และได้จมลงสู่นาคภิภพ ไปกระทบกับถาดทอง 3 ใบของอดีตพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ คือ

  1. พระกกุสันธพุทธเจ้า
  2. พระโกนาคมนพุทธเจ้า
  3. พระกัสสปพุทธเจ้า

ตรัสรู้

แก้
 
ท้าววสวัตตีมารนำเสนาเข้าขัดขวางการตรัสรู้ของพระสิทธัตถะโคดม

ทรงประทับนั่งขัดสมาธิ ผินพระพักตร์สู่เบื้องบูรพาทิศ ตั้งจิตแน่แน่วว่า ตราบใดที่ยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาน จักไม่ลุกขึ้นจากสมาธิบัลลังก์ ในคืนนั้น ท้าววสวัตตีเข้าทำการขัดขวางการบำเพ็ญเพียรของพระมหาบุรุษ แต่ก็พ่ายแพ้ไป พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรต่อที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่าการเข้าฌาน เพื่อเป็นบาทของวิปัสสนาญาณ จนเวลาผ่านไปพระองค์ได้บรรลุถึงญาณต่าง ๆ ดังนี้

  • ปฐมยาม ทรงบรรลุ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ การระลึกชาติในอดีต ทั้งของตนเองและผู้อื่นได้
  • มัชฌิมยาม ทรงบรรลุ จุตูปปาตญาณ คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
  • รุ่งปัจฉิมยาม ทรงบรรลุ อาสวักขยญาณ คือ รู้วิธีกำจัดกิเลส (มาร) ด้วยอริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระองค์จึงพบกับความสุขสว่างอย่างแท้จริง ซึ่งเรียกกันว่าทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ณ พุทธคยา กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ขณะมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา

เสวยวิมุตติสุข

แก้

สัปดาห์ที่ 1 และ 2

แก้

หลังจากที่พระโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขที่เกิดจากความหลุดพ้น) ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ 7 วัน เพื่อพิจารณาปฏิจจสมุปบาททั้งสายเกิดและสายดับ จากนั้นในสัปดาห์ที่ 2 ได้เสด็จไปทรงยืนอยู่กลางแจ้งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงทำอุปหาร คือ ยืนทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยไม่กระพริบพระเนตรตลอด 7 วัน สถานที่เสด็จมาทรงยืนทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นได้นามว่าอนิมิสเจดีย์

สัปดาห์ที่ 3

แก้

ในสัปดาห์ที่ 3 หลังจากตรัสรู้ พระพุทธเจ้า ทรงเนรมิตที่จงกรมแก้วขึ้น ณ กึ่งกลางระหว่างอนิมิสเจดีย์กับต้นพระศรีมหาโพธิ์ แล้วเสด็จจงกรม ณ ที่นั้นเป็นเวลา 7 วัน สถานที่นั้นได้นามว่า รัตนจงกรมเจดีย์

สัปดาห์ที่ 4

แก้
 
ลักษณะพระพุทธรูปปางซุ้มเรือนแก้ว

ในสัปดาห์ที่ 4 จากวันที่ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ณ เรือนแก้วที่เทวดาเนรมิตถวายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นศรีมหาโพธิ์ ทรงพิจารณาธรรมตลอดเวลา ๗ วัน สถานที่นั้นเรียกว่า รัตนฆรเจดีย์ ในหนังสือพระปฐมสมโพธิกถา กล่าวว่าในสัปดาห์ที่ 1-3 พระฉัพพรรณรังสี (รัศมี 6 ประการ) ยังมิได้โอภาสออกจากพระวรกาย จนในสัปดาห์ที่ 4 เมื่อเสด็จประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ทรงพิจารณาธรรมในเรือนแก้วแล้ว พระฉัพพรรณรังสีจึงมีโอภาสออกมาจากพระวรกาย

สัปดาห์ที่ 5

แก้

หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงพิจารณาธรรมในเรือนแก้วแล้ว พระองค์จึงเสด็จไปประทับใต้ต้นไทร ธิดามาร 3 พี่น้อง คือ นางราคา นางอรดี นางตัณหา ได้อาสาผู้เป็นบิดาไปทำลายตบะเดชะของพระพุทธองค์ ด้วยการเนรมิตร่างเป็นสตรีที่สวยงามในวัยต่าง ๆ ตลอดจนแสดงอิตถียาโดยการฟ้อนรำขับร้อง แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงเอาพระทัยใส่ กลับขับไล่ธิดามารให้หลีกไป

สัปดาห์ที่ 6

แก้

ในสัปดาห์ที่หกหลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ ในขณะที่พระพุทธองค์ทรงประทับ ณ ใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาประทับอยู่ที่นี่ ได้บังเกิดมีฝนและลมหนาวตกพรำตลอดเจ็ดวันไม่ขาดสาย พญานาคชื่อ มุจลินท์ ได้ขึ้นจากสระน้ำที่อยู่ในบริเวณเดียวกันนี้ เข้าไปวงขนด 7 รอบ แล้วแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้า เพื่อป้องกันลมฝนมิให้พัดและสาดกระเซ็นมาต้องพระวรกาย ครั้นฝนหาย ฟ้าสาง พญานาคจึงคลายขนดออก แล้วจำแลงเป็นเพศมาณพยืนเฝ้าพระพุทธเจ้าทางเบื้องพระพักตร์ ลำดับนั้นพระพุทธองค์จึงทรงเปล่งอุทานจากความคิดว่า

ความสงัดคือความสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว ได้รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามเป็นจริงอย่างไร ความสำรวมไม่เบียดเบียนในสัตว์ทั้งหลาย และความเป็นผู้ปราศจากกำหนัด หรือสามารถก้าวล่วงพ้นซึ่งกามทั้งปวงเสียได้ เป็นสุขอันประเสริฐในโลก ความขาดจากอัสมิมานะหรือการถือตัวตน หากกระทำให้ (การถือตัว) หมดสิ้นไปได้นั้น เป็นความสุขอย่างยิ่ง

— พระพุทธองค์

สัปดาห์ที่ 7

แก้

เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกจากร่มไม้จิกแล้ว ก็เสด็จไปประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้เกด ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นเวลา 7 วัน แล้วจึงทรงออกจากสมาธิ ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ผู้เป็นจอมเทพของดาวดึงส์ ทรงทราบว่า นับแต่พระพุทธองค์ตรัสรู้มา 7 สัปดาห์ รวม 49 วัน มิได้เสวยภัตตาหารเลย จึงนำผลสมออันเป็นทิพยโอสถจากเทวโลกมาน้อมถวาย พระพุทธองค์จึงเสวยผลสมอทิพย์นั้น แล้วทรงบ้วนพระโอษฐ์ (ปาก) ด้วยน้ำที่ท้าวสักกเทวราชถวาย จากนั้นเสด็จประทับ ณ ร่มไม้เกดตามเดิม

ประสานบาตรแล้วรับข้าวสัตตูก้อนสัตตูผง

แก้

หลังจากพระพุทธเจ้า ตรัสรู้แล้ว 49 วัน พ่อค้าสองพี่น้องชื่อ ตปุสสะและภัลลิกะ ได้รับคำแนะนำจากเทวดาซึ่งเคยเป็นญาติกับพ่อค้าทั้งสองในอดีตชาติ ให้นำภัตตาหารน้อมถวายแด่พระพุทธองค์ เพื่อประโยชน์สุขแก่ทั้งสองสิ้นกาลนาน เมื่อตปุสสะและภัลลิกะเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ร่มไม้เกด ต่างมีจิตเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้าไปทำการอภิวาทและถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง พระพุทธองค์มีพระประสงค์จะรับ แต่บาตรที่ฆฏิการพรหมถวายในวันเสด็จออกบรรพชาได้อันตรธานไป ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 จึงได้เหาะนำบาตรศิลามาถวายองค์ละใบ พระองค์จึงทรงประสานบาตรทั้ง 4 ใบนั้นเป็นใบเดียวกัน แล้วใช้รับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง

พระพุทธเจ้าทรงรับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงที่พ่อค้าสองพี่น้องถวายด้วยความเลื่อมใส เมื่อทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว พ่อค้าทั้งสองทูลขอถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นที่พึ่งนับถือสูงสุดในชีวิต เพราะขณะนั้น ยังไม่มีพระสงฆ์บังเกิดขึ้น ถือเป็นเทววาจิกอุบาสก นับเป็นอุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา

ประทานพระเกศา

แก้

หลังจากที่ตปุสสะและภัทลิกะ (ผู้ที่ถวายสัตตูก้อนสัตตูผง) ได้ขอถึงพระพุทธและพระธรรมว่าเป็นที่พึ่งสูงสุดในชีวิต ถือเป็นปฐมอุบาสกในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้ทูลขอสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การอภิวาทต่างองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้บูชา พระพุทธองค์ทรงลูบพระเศียรเกล้าด้วยพระหัตถ์ขวา มีพระเกศา 8 เส้น อยู่บนฝ่าพระหัตถ์ จึงโปรดประทานพระเกศาทั้ง 8 เส้นนั้นแก่พ่อค้าทั้งสอง โดยแบ่งให้คนละครึ่ง (4 เส้น) เมื่อกราบบังคมลาไปสู่บ้านเมืองของตนแล้ว พ่อค้าทั้งสองได้สร้างพระสถูปบรรจุพระเกศาไว้เป็นที่สักการบูชาแก่มหาชน

ระลึกถึงดอกบัว 4 เหล่า

แก้
 
พระพุทธรูปปางรำพึง

ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นไทร พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้นั้นมีความละเอียดและลึกซึ้งมาก เป็นสิ่งที่เหล่าปุถุชนคนธรรมดาผู้มากไปด้วยกิเลสยากจะเข้าใจได้เมื่อได้ฟังธรรม แล้วจะมีใครสักคนที่จะเข้าใจธรรมของพระพุทธองค์ไม่ หากสอนไปแล้วเกิดไม่เข้าใจก็เปล่าประโยชน์ พระทัยหนึ่งจึงเกิดความมักน้อยว่าจะไม่แสดงธรรมเพื่อโปรดใครเลย ด้วยพระพุทธดำริของพระพุทธเจ้าได้ทราบไปถึงท้าวสหัมบดีพรหมในพรหมโลก ท้าวสหัมบดีพรหมจึงตกพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงเปล่งวาจาอันดังถึงสามครั้งว่า "โลกจะฉิบหายในครั้งนี้" ท้าวสหัมบดีพรหมพร้อมเทพบริษัทก็ได้ลงจากพรหมโลกมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรมโปรดชาวโลก โดยอธิบายว่า ในโลกนี้ยังมีสัตว์ในโลกทั้งหลายนี้ ที่มีกิเลสเบาบางพอที่จะฟังธรรมของพระองค์ได้นั้นยังมีอยู่ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงพระสัทธรรมเทศนาโปรดชาวโลกในครั้งนี้เทอญ พระพุทธองค์ทรงกล่าวตอบท้าวสหัมบดี "เราตถาคตจะได้เปิดประตูอมตธรรมต้อนรับชนผู้ใคร่สดับซึ่งเราชำนาญดีในหมู่มนุษย์" หลังจากพระพุทธองค์ทรงได้พิจารณาเห็นความแตกต่างของระดับสติปัญญาของบุคคลในโลกนี้เปรียบเสมือนบัว 4 เหล่า ดังนี้

  1. อุคฆฏิตัญญู คือ พวกที่สติปัญญาดี เมื่อฟังธรรมก็สามารถเข้าใจได้รวดเร็ว เสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที
  2. วิปจิตัญญู คือ พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เมื่อฟังธรรมแล้วพิจารณาตาม ฝึกฝนเพิ่มเติมจะเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เสมือนดอกบัวที่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป
  3. เนยยะ คือ พวกที่สติปัญญาน้อย เมื่อฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและฝึกฝนอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ ในที่สุดก็จะสามารถเข้าใจได้ เสมือนดอกบัวใต้น้ำซึ่งจะโผล่ขึ้นเบ่งบานในวันหนึ่ง
  4. ปทปรมะ คือ พวกไร้สติปัญญา แม้ได้ฟังธรรม ก็ไม่อาจเข้าใจ เปรียบเสมือนบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ไม่มีโอกาสเบ่งบาน

เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณก็ทรงอธิษฐานว่า จะแสดงธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ และตั้งพุทธปณิธานที่จะดำรงพระชนม์อยู่ จนกว่าจะได้อยู่ประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายสำเร็จประโยชน์แก่ชนทุกหมู่เหล่า

แสดงปฐมเทศนา

แก้
 
ปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

พระพุทธองค์ทรงระลึกถึงอาฬารดาบสและอุทกดาบส แต่ทิพยจักษุญาณได้บอกว่า ทั้งสองสิ้นชีพไปแล้ว จึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ ทรงทราบว่า ปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน จึงได้เสด็จไปแสดงปฐมเทศนา คือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรด ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหบูชานั่นเอง ซึ่งกล่าวถึงสุด 2 อย่าง อันบรรพชิต ไม่ควรปฏิบัติ คือการลุ่มหลงมัวเมาในกาม 1 การทรมาณตนให้ลำบากเปล่า 1 มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางที่ควรดำเนิน คืออริยสัจ 4 และมรรคมีองค์แปด

ในที่สุด ท่านโกณฑัญญะ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาบัน พระพุทธองค์จึงทรงเปล่งวาจาว่า

บาลี : อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ
ไทย : โกณฑัญญะ เธอได้รู้แล้ว เธอได้เข้าใจแล้ว

— พระพุทธเจ้า

ท่านโกณฑัญญะ จึงได้สมญาว่า พระอัญญาโกณฑัญญเถระ และได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา เป็นเหตุให้พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบองค์ 3 เป็นครั้งแรกในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

จากนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร พระภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ขณะสดับพระธรรมเทศนาส่งจิตไปตามกระแสพระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ไม่ยึดมั่น ถือมั่นด้วยอุปาทาน สามารถละสังโยชน์ครบ 10 ประการ ได้บรรลุพระนิพพานเป็นพระอรหันต์พร้อมกันทั้ง 5 รูป

ยสะและญาติออกบวช

แก้

หลังจากโปรดปัญจวัคคีย์เป็นกลุ่มแรกแล้ว ก็มียสะที่หนีออกจากเมืองพาราณสี และพระญาติอีก 54 คนเข้ามาขอบวชและฟังพระธรรมเทศนาจนได้พระอรหันต์สาวก 60 รูป พระองค์ทรงส่งพระสาวกเหล่านี้ออกไปประกาศพระศาสนาตามตำบลต่าง ๆ และได้แสดงธรรมแก่เศรษฐีคนหนึ่ง เป็นชาวเมืองพาราณสี รวมถึงนางสุชาดา มารดาของพระยสเถระ และภรรยาเก่าของท่าน จนบรรลุโสดาบัน ขอแสดงตนเป็นอุบาสกอุบาสิกา และถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง นับเป็นอุบาสกคนแรก และอุบาสิกากลุ่มแรกที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง

โปรดภัททวัคคีย์

แก้

จากนั้น พระองค์ได้เสด็จไปตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ก่อนที่จะไปที่นั่น ได้พบกับภัททวัคคีย์ที่กำลังตามหานางคณิกาซึ่งโขมยเสื้อผ้าและเครื่องประดับของเขาไป พระพุทธองจึงทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ 4 โปรด ภัททวัคคีย์จึงบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลระดับต่าง ๆ เช่น โสดาบัน สกทาคามี จากนั้นจึงขอบวช พระพุทธองค์ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา จากนั้นพระพุทธองค์ทรงส่งภัททวัคคีย์ไปประกาศพระศาสนา เมื่อครบ 30 คนแล้วจึงเดินทางต่อไป

โปรดชฎิล 3 พี่น้อง

แก้
 
คยาสีสะ (หรือเขาพรหมโยนีตามตำนานของฮินดู) สถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรแก่หมู่ภิกษุชฏิล 1,003 รูปจนสำเร็จพระอรหันต์ทั้งหมด
 
กลุ่มป่าไผ่ร่มรื่น ในกลุ่มโบราณสถานวัดเวฬุวันมหาวิหาร

เมื่อถึงแม่น้ำเนรัญชรา ก็ได้พบกับชฎิล 3 พี่น้องได้แก่ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ และบริวาร 1,000 คน (อุรุเวลฯ 500 คน, นทีฯ 300 คน และคยาฯ 200 คน) ซึ่งเป็นนักบวชลัทธิบูชาไฟ และเป็นที่เคารพบูชาของชาวกรุงราชคฤห์ ในครั้งแรก พระพุทธองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์โดยการปราบพญานาคให้มีขนาดเล็ก ครั้งที่สองทรงแสดงพุทธานุภาพ คือมีเทวดามาเข้าเฝ้า และครั้งสุดท้ายทรงแสดงนิมิตจงกรมกลางน้ำ แต่ถึงอย่างไร อุรุเวลกัสปะก็ไม่เลื่อมใสอยู่ดี จนพระพุทธองค์ต้องแสดงธรรมโปรด ทำให้อุรุเวลกัสสปะเกิดความเลื่อมใสขอบวชเป็นพระสาวก พระพุทธเจ้าจึงทรงให้อุรุเวลฯ ไปชี้แจงแก่บริวาร 500 คนให้รับทราบ บริวารทั้งหมดรับทราบและขอบวชจากพระพุทธเจ้า จากนั้น เรื่องจึงได้ทราบถึงนทีฯ ซึ่งมีบริวาร 300 คน และคยาฯ ซึ่งมีบริวาร 200 คน ชฎิลทั้ง 2 และบริวารทั้งหมดจึงขอบวชตาม พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา จากนั้น พระพุทธเจ้าทรงพาทั้ง 1,003 รูปไปที่คยาสีสะ แล้วทรงแสดงธรรม อาทิตตปริยายสูตร แก่ชฎิลทั้ง 3 และบริวาร ทั้งหมดจึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

โปรดพระเจ้าพิมพิสาร

แก้

พระพุทธองค์ทรงพาชฎิล 3 พี่น้อง และบริวารจำนวน 1,000 รูป ไปยังกรุงราชคฤห์ ทรงพักที่ สวนตาลหนุ่ม เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบข่าว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยข้าราชบริพารไปเข้าเฝ้า เมื่อเสด็จไปสวนตาล พระเจ้าพิมพิสารทรงนมัสการพระพุทธเจ้า ส่วนข้าราชบริพารบางส่วนยังทำเมินเฉยอยู่

พระพุทธองค์จึงทรงทำลายทิฐิมานะของข้าราชบริพารเหล่านั้นลง โดยถามพระอุรุเวลกัสสปะถึงเหตุที่เลิกศรัทธาลัทธิบูชาไฟ อุรุเวลฯ ตอบว่า ลัทธิเดิมของตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าในประชาชนทั้งหลายได้ทราบโดยทั่วกัน พระพุทธเจ้าทรงสังเกตเห็นบรรดาข้าราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสารได้คลายทิฐิมานะลงแล้ว จึงทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ข้าราชบริพาร และประชาชนทั้งหลาย

ผลที่ได้รับคือ พระเจ้าพิมพิสาร และข้าราชบริพารส่วนใหญ่ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงได้ทรงแสดงตนเป็นอุบาสก ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณที่พึ่งตลอดชีวิต พระเจ้าพิมพิสารยังได้ถวายสวนเวฬุวันให้พระพุทธองค์และพระสาวกทั้งหมด วัดเวฬุวันจึงเป็น วัดแห่งแรกของพระพุทธศาสนา ในยามดึกของค่ำวันนั้น บรรดาเปรตทั้งหลายที่เคยเป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสารในอดีตชาติทราบว่าพระเจ้าพิมพิสารบำเพ็ญกุศลมีการถวายทานเป็นต้น ต่างก็รอรับส่วนบุญที่พระเจ้าพิมพิสารจะอุทิศส่งไปให้ เมื่อรอจนสิ้นวันนั้น ไม่เห็นพระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนบุญให้ตามที่หวัง จึงพากันส่งเสียงร้องด้วยศัพท์สำเนียงอันน่าสะพรึงกลัว พระเจ้าพิมพิสารได้สดับเสียงนั้น เกิดความกลัวมาก จึงรีบเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสให้ทราบความเป็นมา บอกให้พระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนกุศล ท้าวเธอก็ได้อุทิศส่วนกุศลไปให้ ทันใดนั้นอาหารทิพย์ก็ปรากฏมีแก่เปรตเหล่านั้นต่างพากันบริโภคจนอิ่มหนำสำราญ ร่างกายที่เคยผอมโซทุเรศน่าเกลียดน่ากลัวก็กลับดูสะอาดสมบูรณ์ขึ้น

แต่งตั้งพระอัครสาวกทั้งสอง

แก้

พระอัครสาวกที่สำคัญของพระพุทธเจ้าคือ พระสารีบุตร และ พระมหาโมคคัลลานะ ครั้งนั้นคืออุปติสสะและโกลิตะ ในขณะนั้นพระพุทธองค์กำลังประทับท่ามกลางพุทธบริษัทจำนวนมาก เมื่อเห็นมาณพทั้งสองกำลังเดินมา จึงตรัสบอกภิกษุสงฆ์ว่า ภิกษุทั้งหลาย มาณพทั้งสองคนนั้นจะเป็นอัครสาวกของเราตถาคต มาณพทั้งสองได้ทูลขออุปสมบทต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ ทั้ง 2 ได้ปฏิบัติธรรมอย่างพากเพียรจนพระมหาโมคคัลลานะอุปสมบทได้ 7 วัน ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนพระสารีบุตรอุปสมบทได้กึ่งเดือน จึงสำเร็จพระอรหันต์ พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายการที่พระสารีบุตรได้บรรลุพระอรหันต์ช้ากว่าพระมหาโมคคัลลานะว่าเป็นเพราะพระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญามาก ต้องใช้บริกรรมใหญ่ เปรียบด้วยการเสด็จไปของพระราชาต้องตระเตรียมราชพาหนะและราชบริวาร จึงจำเป็นต้องใช้เวลามากกว่าการไปของคนสามัญ

ในวันที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนมาฆะ (วันมาฆบูชา) ในตอนบ่ายพระพุทธเจ้าทรงประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวาเลิศกว่าผู้อื่นในทางปัญญา พระมหาโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเลิศกว่าภิกษุรูปอื่นในฐานะมีฤทธิ์ล้ำเลิศ เมื่อล่วงค่ำพระสงฆ์ 1,250 รูปจึงมาถึงวัดพระเวฬุวัน พระพุทธเจ้าจึงทรงประทานโอวาทปาติโมกข์แก่ทั้งหมด รวมทั้งอัครสาวกทั้ง 2 พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระสารีบุตรว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุรูปอื่นในทางปัญญา เป็นผู้สามารถจะแสดงพระธรรมจักรและพระจตุราริยสัจให้กว้างขวางพิสดารเสมอพระองค์ เมื่อมีภิกษุมาทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อจะเที่ยวจาริกไป พระพุทธเจ้ามักจะตรัสให้ภิกษุที่มาทูลลา ไปลาพระสารีบุตรก่อน เพื่อให้พระสารีบุตรได้สั่งสอน เช่นครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองเทวทหะ ภิกษุเป็นจำนวนมากได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลลาไปชนบท พระพุทธเจ้าก็ตรัสสั่งให้ไปลาพระสารีบุตร แล้วทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญา อนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิตทั้งหลาย เปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิด ย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระสารีบุตรได้รับการยกย่องมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "พระธรรมเสนาบดี" พระสงฆ์ผู้ประกาศพระศาสนา ได้ชื่อว่าธรรมเสนา เป็นกองทัพธรรมที่ประกาศเผยแผ่ธรรม เมื่อไปถึงที่ไหน ก็ทำให้เกิดประโยชน์และความสุขที่นั่น พระพุทธเจ้าเป็นจอมธรรมเสนา เรียกว่า "พระธรรมราชา" โดยมีพระสารีบุตรเป็นพระธรรมเสนาบดี หรือแม่ทัพฝ่ายธรรม

ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์

แก้

วันมาฆบูชา เป็นวันที่ระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาติโมกข์แก่มหาสังฆสันนิบาตในมณฑลวัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งในวันนั้นมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการคือ

  1. วันนี้พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)
  2. พระสาวกทั้ง 1,250 รูปนี้ ต่างได้มาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย
  3. พระสาวกทั้ง 1,250 รูปนี้ล้วนเป็นเอหิภิกขุที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น เรียกว่าพิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
  4. พระสาวก 1,250 รูปนี้ล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ละสังโยชน์ครบ 10 ประการ

ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ 4 อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จาตุรงคสันนิบาต (มาจากศัพท์บาลี จตุ+องฺค+สนฺนิปาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ) โดยประชุมกัน ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์ หลังจากตรัสรู้แล้ว 9 เดือน (45 ปี ก่อนพุทธศักราช)

ปรินิพพาน

แก้

ขณะที่พระโคตมพุทธเจ้ามีพระชนมายุราว 80 พรรษา พระวรกายได้เสื่อมทรุดไปตามสังขารวัยของพระองค์ นอกจากนี้ยังมีพระโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและยังมีพระอาการปวดเรื้อรัง ในปีสุดท้ายของพระองค์นั้น พระองค์ประชวรพระนาภีอย่างรุนแรงจนเกือบจะปรินิพพาน เมื่อพระอาการดีขึ้น นายจุนทะ กัมมารบุตร ได้นำสูกรมัททะวะมาถวาย หลังจากเสวยเสร็จได้ทรงพระบังคลหนักเป็นพระโลหิต แต่ทรงข่มพระอาการมุ่งเสด็จต่อไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ต้นสาละ ของมัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา แล้วเสด็จบรรทมสีห์ไสยาสน์ ขณะนั้นปริพาชกชื่อสุภัททะ มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อถามปัญหาบางประการ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้สุภัททะจนเข้าใจ สุภัททะบรรลุโสดาบัน และบวชเป็นภิกษุต่อหน้าพระพุทธองค์เป็นคนสุดท้าย ก่อนปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า

ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลาย สังขารทั้งปวงมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านจงทำกิจของตน และกิจของผู้อื่นด้วยความไม่ประมาทเถิด

หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าจึงเสด็จดับขันธ์ปรินิพาน ระหว่างใต้ต้นสาละคู่ ณ กรุงกุสินารา ณ ปัจฉิมยามแห่งราตรีวิสาขปรุณมีเพ็ญเดือน 6 ขณะมีพระชนมายุ 80 พรรษา ประเทศกัมพูชาและพม่านับปีนี้เป็น พ.ศ. 1 แต่ในประเทศไทยนับ พ.ศ. 1 หนึ่งปีหลังจากการปรินิพพาน ซึ่งแตกต่างเพียงเล็กน้อย

มโน เลาหวณิช [[14]] สันนิษฐานว่าพระอาการประชวรมีสาเหตุมาจากการอุดตันของเส้นเลือดใหญ่ในลำไส้เล็กส่วนกลาง (superior mesenteric artery) เมื่อกล้ามเนื้อลำไส้ของพระองค์ตายจากการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้เลือดจำนวนมากไหลเข้าสู่ลำไส้ เกิดการถ่ายเป็นเลือด นอกจากนี้ แบคทีเรียจำนวนมากได้เข้าสู่ช่องท้องทำให้เกิดการอักเสบของช่องท้อง แบคทีเรียส่วนหนึ่งเข้าสู่กระแสพระโลหิต ทำให้เกิดพระอาการช็อกและหนาวสั่น อาการช็อกทำให้พระองค์เกิดการกระหายน้ำ เนื่องจากไม่สามารถพระดำเนินได้เองจึงทรงรับสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาถวาย และรับสั่งให้นำผ้าสังฆาฏิปูบริเวณลานหนา 4 ชั้นเพื่อให้ทรงประทับ เมื่อพระอาการดูท่าไม่ดี เหล่าภิกษุได้ช่วยกันนำพระองค์เข้าไปในเมืองเพื่อรักษาแต่ไม่สำเร็จ จึงเสด็จปรินิพพานในกรุงกุสินารา หลังวันวิสาขบูชาราว 5-6 เดือนในช่วงออกพรรษา หลังจากปรินิพพานแล้ว มัลลกษัตริย์ทั้งหลายมีมติที่จะเคลื่อนพระพุทธสรีระออกจากเมืองไปประตูทางทิศใต้[15] แต่ก็ไม่สามารถอัญเชิญพระพุทธสรีระไปได้ แม้แต่จะขยับเขยื้อนให้เคลื่อนจากสถานที่สักน้อยหนึ่ง มัลลกษัตริย์พากันตกตลึงในเหตุอัศจรรย์ที่ไม่เคยประสบเช่นนั้น จึงได้พร้อมกันไปเรียนถามพระอนุรุทธะเถระซึ่งเป็นประธานสงฆ์อยู่ พระอนุรุทธะเถระได้กล่าวว่า เหล่าเทวดามีความประสงค์ที่จะเคลื่อนพระพุทธสรีระให้เข้าเมืองจากทิศเหนือแล้วออกไปยังประตูทางทิศตะวันออก มัลลกษัตริย์ทั้งหลายต่างได้ทำตามความประสงค์ของเหล่าเทวดา หลังจากนั้นพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพได้ถูกจัดขึ้นในวันที่ 8 หลังพุทธปรินิพพาน เมื่อหลังจากที่พระเพลิงเผาซึ่งเผาไหม้พระพุทธสรีระดับมอดลงแล้ว บรรดากษัตริย์มัลละทั้งหลายจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ใส่ลงในหีบทองแล้วนำไปรักษาไว้ภายในนครกุสินารา ส่วนเครื่องบริขารต่างๆ ของพระพุทธเจ้าได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามที่ต่างๆ อาทิ ผ้าไตรจีวร อัญเชิญไปประดิษฐานที่แคว้นคันธาระ บาตรอัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองปาตลีบุตร เป็นต้น และเมื่อบรรดากษัตริย์จากแคว้นต่างๆ ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานที่นครกุสินารา จึงได้ส่งตัวแทนไปขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำกลับมาสักการะยังแคว้นของตนแต่ก็ถูกกษัตริย์มัลละปฏิเสธ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งและเตรียมทำสงครามกัน แต่ในสุดเหตุการณ์ก็มิได้บานปลาย เนื่องจากโทณพราหมณ์ได้เข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อยุติความขัดแย้งโดยเสนอให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่าๆ กัน ซึ่งกษัตริย์แต่ละเมืองทรงสร้างเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุตามเมืองต่างๆ

หลักธรรมคำสอน

แก้

พระพุทธเจ้าทรงเทศนา สั่งสอนพุทธบริษัทเรียกว่า พระธรรมวินัย พระธรรม คือคำสอนในสิ่งที่เป็นจริงของชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตไปสู่จุดหมายสูงสุด คือ นิพพาน

พระธรรมนั้นแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ คำสอนที่เกี่ยวเนื่องกับ ชีวิตประจำวันของ ผู้คนทั่วไป เรียกว่าพระสูตร และคำสอนที่เป็น หัวข้อธรรมล้วน ๆ เช่น ขันธ์ 5 ปัจจยาการ 12 เป็นต้นเรียกว่าพระอภิธรรม ส่วนวินัยสำหรับพระ ภิกษุและภิกษุณี ได้แก่กฎระเบียบข้อปฏิบัติ หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 3 เดือน พุทธบริษัทได้ ร่วมกันรวบรวม พระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัย จัดเข้าเป็นหมวดหมู่ได้ 84,000 หมวด รวมเรียกว่า พระไตรปิฎก

แผงภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติจนตรัสรู้

พุทธกิจ 5

แก้
  • ช่วงเช้า - ตอนเช้ามืดเสด็จออกไปบิณฑบาต เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญตักบาตร และเพื่อแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์
  • ช่วงเย็น - เสด็จออกแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนในท้องถิ่นนั้น
  • ช่วงค่ำ - ทรงใช้เวลายามนี้ตอบปัญหาธรรมแสดงธรรม หรือให้คำปรึกษาแก่เหล่าภิกษุ
  • ช่วงเที่ยงคืน - ทรงใช้เวลายามนี้ตอบปัญหาธรรมแสดงธรรมแก่เทวดาที่มาเข้าเฝ้า
  • ช่วงใกล้รุ่ง - ทรงตรวจพิจารณาสอดส่องเลือกสรรบุคคลที่พระองค์ควรเสด็จไปโปรดในตอนเช้า

ความเห็นนักวิชาการ

แก้

นักวิชาการยังลังเลใจในการอ้างอย่างไม่สันทัดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในพุทธประวัติ ส่วนใหญ่ยอมรับว่าพระองค์มีพระชนม์ ตรัสสอนและทรงจัดตั้งสำนักสงฆ์ แต่ไม่ได้ยอมรับในทุกๆ รายละเอียดที่บรรจุในพุทธประวัติ[16][17] ตามนักประพันธ์ มิเชล คาร์รัทเธอร์ (Michael Carrithers) ว่า แม้จะมีเหตุผลที่ดีในการสงสัยบันทึกดั้งเดิม แต่ "โครงร่างชีวิตนั้นจะต้องเป็นจริง การประสูติ การเจริญวัย การสละ การค้นหา การตรัสรู้และการหลุดพ้น การตรัสสอน และปรินิพพาน"[18]

ในงานเขียนพระพุทธประวัติของเธอ คาเรน อาร์มสตรอง เขียนว่า "ยากอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น ในการเขียนพระพุทธประวัติเพื่อให้เข้ากับหลักเกณฑ์สมัยใหม่ เพราะเรามีข้อมูลน้อยมากที่ถูกมองได้ว่าเหมาะสมทางประวัติศาสตร์ ... [แต่] เราสามารถมั่นใจได้อย่างมีเหตุผลว่า พระโคตมพุทธเจ้าทรงมีตัวตนอยู่จริง และหลักคำสอนของพระองค์คงรักษาความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตของพระองค์"[19]

ความเชื่อต่างๆ

แก้

ในคติมหายาน

แก้
 
พระศากยมุนีพุทธเจ้า

ในนิกายมหายาน นิยมเรียกพระโคตมพุทธเจ้าว่าพระศากยมุนีพุทธเจ้า (จีน: 释迦牟尼佛 ซื่อเจียโหฺมวหฺนีฝอ ตามสำเนียงจีนกลาง หรือ เสกเกียเมานีฮุก ตามสำเนียงแต้จิ๋ว) ซึ่งมักจะนิยมสร้างประติมากรรมในรูปแบบถือลูกแก้วสีแดง ส่วนทางธิเบตจะนิยมมีพระวรกายสีเหลือง

ตามศาสนสถานหรือวัดในพุทธศาสนามหายาน จะพบพระศากยมุนีพุทธเจ้าประดิษฐานตรงกลาง ด้านซ้ายมือของพระศากยมุนี คือ พระไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาตถาคตพุทธเจ้า ส่วนด้านขวามือของพระศากยมุนี คือพระอมิตาภพุทธเจ้า หรือที่พุทธศาสนิกชนชาวจีนเรียกว่า พระไตรรัตนพุทธเจ้า (จีน: 三寳佛 ซานเป้าฝอ ตามสำเนียงจีนกลาง หรือ ซำป้อฮุก ตามสำเนียงฮกเกี้ยน) ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดสภาวะคือตรีกาย อันได้แก่

  • นิรมาณกาย หมายถึง กายที่เปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพของสังขารในฐานะที่เป็นมนุษย์ (แทนด้วยพระศากยมุนีพุทธเจ้า)
  • สัมโภคกาย หมายถึง กายที่ประทับในแดนพุทธเกษตรต่างๆ มีลักษณะเป็นทิพย์ มีอายุที่ยืนยาวมากดุจความเป็นนิรันดร์ และมีภาวะรุ่งเรืองแผ่ซ่านปรากฏแก่พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย (แทนด้วยพระอมิตาภพุทธเจ้า)
  • ธรรมกาย หมายถึง กายอันไร้รูปร่างเป็นสภาวธรรม ในฐานะเป็นสภาพสูงสุด หลักแห่งความรู้, ความกรุณา และความสมบูรณ์ (แทนด้วยพระไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาตถาคตพุทธเจ้า)
 
การประดิษฐาน "ซำป้อฮุกโจ้ว" หรือพระประธาน 3 พระองค์ ในวัดมังกรกมลาวาส ประกอบด้วย (เรียงจากซ้ายไปขวา) พระอมิตาภพุทธเจ้า พระศากยมุนีพุทธเจ้า และ พระไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาตถาคตพุทธเจ้า

ทัศนะของศาสนาอื่น

แก้

นอกจากในพระพุทธศาสนาแล้ว พระโคตมพุทธเจ้ายังถูกอ้างถึงในลัทธิศาสนาอื่น ๆ ด้วย

ศาสนาฮินดู

แก้

ศาสนาฮินดูเชื่อว่าพระโคตมพุทธเจ้าเป็นอวตารปางหนึ่งของพระวิษณุ ปรากฏการอ้างอยู่ในหลายคัมภีร์

วิษณุปุราณะและภาควัตปุราณะ ระบุไว้ตรงกันว่า พระวิษณุเห็นว่าพวกอสูรขโมยเครื่องบูชายัญไป ทำให้มีอำนาจมากกว่าฝ่ายเทพ พระวิษณุจึงเนรมิตพระโคดมขึ้น เพื่อล่อลวงพวกอสูรให้ละทิ้งพระเวท ละทิ้งการบูชายัญ ติเตียนเทพและพราหมณ์ หันไปนับถือศาสนาพุทธ เมื่อพวกอสูรหลงผิดไปทิ้งพระเวทแล้ว ก็จะเสื่อมกำลังลง ฝ่ายเทพกลับก็จะโจมตีและทำลายพวกอสูรได้[20]

มหากาพย์มหาภารตะ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หลังจากพระวิษณุได้มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ก่อตั้งศาสนาพุทธเพื่อล่อลวงพวกอสูรให้ละทิ้งพระเวทแล้ว พระวิษณุจะอวตารเป็นกัลกี (บุรุษขี่ม้าขาว) มาปราบลัทธินอกศาสนาเหล่านี้ให้หมด[20]

ฝ่ายลัทธิไศวะ มีตำราชื่อศังกรทิควิชยะ อธิบายว่า เหล่าเทวดาไปร้องทุกข์ต่อพระศิวะว่า พระวิษณุได้เข้าสิงร่างพระพุทธเจ้า สอนให้คนเลิกการบวงสรวง ดูหมิ่นพราหมณ์ เกิดพวกนอกรีตขึ้นจำนวนมาก ทำให้เทวดาทั้งหลายไม่ได้รับเครื่องเซ่นสังเวย พระศิวะเห็นแก่เหล่าเทพ จึงอวตารเป็นศังกราจารย์ ลงมากอบกู้ศาสนาพระเวทให้กลับมารุ่งเรืองและทำลายความประพฤติชั่วให้สิ้นไป[20]

ศาสนาบาไฮ

แก้

พระบะฮาอุลลอฮ์ ศาสดาของศาสนาบาไฮ และพระอับดุลบะฮาอ์ ผู้นำศาสนารุ่นต่อมา กล่าวถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นศาสดาที่พระเป็นเจ้าทรงส่งมาเพื่อทำหน้าที่นำพาและให้ความรู้แก่มนุษย์ในยุคสมัยหนึ่ง เช่นเดียวกับศาสดาท่านอื่น ๆ คือ พระกฤษณะ โมเสส ซาราธุสตรา พระเยซู นบีมุฮัมมัด พระบาบ[21] โดยพระบาฮาอุลลออ์คือพระศรีอริยเมตไตรย เป็นศาสดาองค์ล่าสุดในยุคปัจจุบันนี้[22]

ลัทธิอนุตตรธรรม

แก้

ลัทธิอนุตตรธรรมอ้างว่า พระเป็นเจ้าคือพระแม่องค์ธรรมได้ส่งพระศากยมุนีพุทธเจ้ามาตรัสรู้บนโลกเพื่อทำหน้าที่ฉุดช่วยนำพาวิญญาณเวไนยสัตว์ทั้งหลายให้กลับสู่แดนนิพพาน ซึ่งเป็นบ้านเดิมของวิญญาณทุกดวง ลัทธินี้เชื่อว่าเมื่อพระโคดมตั้งปณิธานได้ 7 วันว่าถ้าหากไม่ได้ตรัสรู้ก็จะไม่ลุกจากที่นั่ง พระแม่องค์ธรรมสงสารพระโคดมที่ลำบากบำเพ็ญเพียรมา 6 ปียังไม่บรรลุ จึงให้พระทีปังกรพุทธเจ้าจำแลงเป็นดาวประกายพรึกมาเปิดจุดญาณทวารให้ พระโคดมจึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า[23]

ลัทธิอนุตตรธรรมอ้างว่าศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้ามีอายุ 3,114 ปี เริ่มต้นขึ้นราว 1200 ปีก่อนคริสตกาลและสิ้นสุดไปแล้วในปี ค.ศ. 1912[24] ปัจจุบันเป็นธรรมกาลของพระศรีอริยเมตไตรยซึ่งได้อวตารมาเป็นลู่ จงอี[25]

อ้างอิง

แก้
  1. เวรัญชกัณฑ์, พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑
  2. L. S. Cousins (1996), "The dating of the historical Buddha เก็บถาวร 2011-02-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน: a review article", Journal of the Royal Asiatic Society (3) 6 (1) : 57–63.
  3. ราชบัณฑิตยสถาน. (2551, 9 กุมภาพันธ์). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-all-x.asp เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน >. (เข้าถึงเมื่อ: 18 ตุลาคม 2551).
  4. ปปัญจสูทนี-อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค มูลปริยายสูตร. อรรถกถาพระไตรปิฎกฉบับมกุฏราชวิทยาลัย. [ออนไลน์]. แหล่งข้อมูล: http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=1&p=5
  5. Buddhist Studies. (2008). Lumbini: Birth Place of the Buddha. [Online]. Available: < http://www.buddhanet.net/e-learning/buddhistworld/lumbini.htm >. (Accessed: 18 October 2008).
  6. อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร, พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
  7. UNESCO World Heritage Centre. (2006). Lumbini, the birthplace of the Lord Buddha. Available: < http://whc.unesco.org/pg.cfm?cid=31&id_site=666 >. (Accessed: 18 October 2008).
  8. นาลกสูตร, พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
  9. พรรณนาอัญญาโกณฑัญญเถราปทาน, อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน
  10. สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มาคณฺฑิยสุตฺต ปริพาชกวคฺค ม. ม. 13/247/281
  11. อรรถกถาอัญญตราเถรีคาถา, อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา เอกกนิบาต
  12. อรรถกถากัณฐกวิมาน, อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ สุนิกขิตวรรคที่ ๗
  13. สุบินสูตร, พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
  14. พระพุทธเจ้าประชวร และปรินิพพานด้วยโรคใดกันแน่? บันทึกจาก "มหาปรินิพพานสูตร" สูตรในพระไตรปิฎก, สืบค้นเมื่อ 2022-03-05
  15. พระมโน เมตฺตานนฺโท (30 มิถุนายน พ.ศ. 2560). "พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร?". ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กรกฎาคม 2543. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  16. Macmillan Encyclopedia of Buddhism Vol. 1, p. 352
  17. Lopez (1995). Buddhism in Practice. Princeton University Press. p. 16. ISBN 0691044422.
  18. Carrithers, Michael. "The Buddha", in the Oxford University paperback Founders of Faith, 1986, p. 10.
  19. Armstrong, Karen (September 28, 2004). Buddha. Penguin Press. p. xii. ISBN 0143034367.
  20. 20.0 20.1 20.2 O'Flaherty, Wendy Doniger, The Origins of Evil in Hindu Mythology, Delhi: Motilal Banarsidass, 1988, pgs. 188-9, 202-3, 209, 288,
  21. Smith, Peter (2000). "Manifestations of God". A concise encyclopedia of the Bahá'í Faith. Oxford: Oneworld Publications. p. 231. ISBN 1-85168-184-1.
  22. จามเช็ด เค ฟอสดาร์, พระพุทธศรีอริยเมตไตรย-อมิตาภา ได้ปรากฏองค์แล้ว, นฤมล นครชัย แปล, กรุงเทพฯ: ศยาม, 2547, หน้า (9)
  23. "การปรากฏของเอกอัครมหาบุรุษของโลก". เอกอนันต์. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  24. "三期末劫". 日新日德佛堂. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-18. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  25. ปฐมธรรมาจารย์แห่งธรรมกาลยุคขาว พระบรมธรรมจารย์จินกง เก็บถาวร 2012-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สังคมธรรมะออนไลน์, เรียกข้อมูลวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556