Nothing Special   »   [go: up one dir, main page]

พระนางสิริมหามายา

พระมารดาของพระโคตมพระพุทธเจ้า

มายาเทวี (บาลี: मायादेवी) หรือ สิริมหามายา เป็นพระมารดาของพระโคตมพุทธเจ้า พระศาสดาแห่งศาสนาพุทธ และเป็นพระเชษฐภคินีของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา[3][4][5][6]

สิริมหามายา
รูปเคารพพระนางสิริมหามายาขณะเหนี่ยวกิ่งสาละ ราวศตวรรษที่ 19 ศิลปะเนปาล
เกิดไม่ปรากฏ
เทวทหะ แคว้นโกลิยะ[1]
เสียชีวิต80 ปีก่อนพุทธศักราช
กบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
คู่สมรสพระเจ้าสุทโธทนะ
บุตรพระโคตมพุทธเจ้า
บิดามารดาพระเจ้าอัญชนะกับพระนางยโสธรา[2][3]
ญาติพระเจ้าสุปปพุทธะและพระเจ้าทัณฑปาณิ (พระเชษฐา)
พระนางมหาปชาบดีโคตมี (พระขนิษฐา)

เอกสารทางพุทธศาสนาระบุว่า พระนางสิริมหามายาสวรรคตหลังประสูติการพระโคตมพุทธเจ้าได้เพียง 7 วัน เพราะสงวนครรภ์ไว้แด่พระโพธิสัตว์เพียงพระองค์เดียว หลังจากนั้นพระองค์จึงจุติบนสวรรค์ตามคติฮินดู-พุทธ[4] ส่วนพระราชกุมารนั้นได้รับการอภิบาลโดยพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระขนิษฐาที่ต่อมาได้เป็นอัครมเหสีในพระเจ้าสุทโธทนะ[4]

พระนาม "มายา" เป็นคำสันสกฤตมีความหมายว่า "ภาพลวงตา" บ้างออกพระนามเป็นมหามายา (महामाया มายาผู้ยิ่งใหญ่) หรือมายาเทวี (मायादेवी พระนางมายา)

พระประวัติ

แก้

พระประวัติตอนต้น

แก้

พระนางสิริมหามายามีพระชนม์ชีพตอนต้นเป็นอย่างไรไม่เป็นที่ทราบ ปรากฏความเพียงว่าเสด็จพระราชสมภพในวงศ์เจ้าผู้ปกครองแคว้นโกลิยะ เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะแห่งโกลิยะกับพระนางยโสธราแห่งสักกะ มีพระเชษฐาสองพระองค์คือพระเจ้าสุปปพุทธะและพระเจ้าทัณฑปาณิ และมีพระขนิษฐาคือพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระราชบิดาและพระราชชนนีเป็นเครือญาติกัน สืบมาแต่พระเจ้าโอกกากราช (Okkākarāj)[1][2][3][7]

ผู้สืบเชื้อสายจากพระเจ้าโอกกากราชนี้แบ่งออกเป็นสองตระกูลคือสักกะ (ศากยะ) กับโกลิยะ ซึ่งสายตระกูลโกลิยะสืบมาจากเจ้าหญิงปิยา (หรือปริยา) พระราชธิดาของพระเจ้าโอกกากราชที่ถูกพี่น้องเนรเทศออกมาจากวังไปประทับอยู่ในป่าเพราะเป็นทรงประชวรพระโรคเรื้อนน่ารังเกียจปรากฏบนพระวรกายเหมือนดอกทองหลาง ต่อมาได้ทรงพบกับพระเจ้ารามะ อดีตเจ้าผู้ครองพาราณสีที่ทรงพระประชวรพระโรคผิวหนังเช่นกันซึ่งสละราชสมบัติแก่พระราชโอรสและครองเพศฤๅษี ภายหลังทั้งสองพระองค์จึงอยู่กินกันและต่อมาได้เสวยผลจากไม้โกลัน (ต้นกระเบา) จึงทรงหายจากพระโรคผิวหนัง ด้วยสำนึกในบุญคุณของต้นไม้นี้จึงเรียกนามวงศ์ตระกูลตนเองว่า "โกลิยะ"[3][7] แต่ใน สัมมาปริพพาชนิยสูตร อธิบายว่าที่ชื่อโกลนคร เพราะสร้างพระนครบริเวณที่เคยเป็นป่ากระเบามาก่อน ส่วนที่หายจากพระโรคเรื้อนนั้นก็เพราะเสวยรากไม้และผลไม้ในป่า พระฉวีจึงหายจากการเป็นพระโรคเรื้อน กลับผ่องพรรณดุจทอง[8]

อย่างไรก็ตามสองตระกูลคือสักกะและโกลิยะถือตัวในระบบวรรณะยิ่ง ด้วยแต่งงานเกี่ยวดองกันภายในสองตระกูลเท่านั้น จะไม่แต่งงานกับตระกูลอื่นเด็ดขาดแม้ว่าจะเป็นวรรณะกษัตริย์จากเมืองอื่นก็ตาม[1][2][3][7] แต่ดอนัลด์ เอส. โลเปซ (Donald S. Lopez) ศาสตราจารย์ด้านพุทธศาสนาและทิเบตศึกษา และริชาร์ด เอฟ. กอมบริช (Richard F. Gombrich) นักภารตวิทยาและนักวิชาการด้านภาษาบาลี-สันสกฤตและพุทธศึกษา อธิบายว่าช่วงเวลานั้นอิทธิพลของพระเวทไม่น่าจะเข้าถึงแคว้นทั้งสอง รวมทั้งการเสกสมรสในหมู่เครือญาตินั้นเป็นเรื่องต้องห้ามของสังคมอารยัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าตระกูลทั้งสองนี้อาจมิได้สืบเชื้อสายชาวอารยัน[9]

อรรถกถาอัปปายุกาสูตร ระบุว่าแต่เดิมพระนางสิริมหามายาเป็นเทพบุตรอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ได้อธิษฐานขอเป็นพุทธมารดา ชาตินี้จึงประสูติมาเป็นสตรี ทั้งได้ขอมีพระชนม์เพียงเจ็ดวันหลังประสูติกาล เพราะสงวนพระครรภ์ไว้แก่พระโพธิสัตว์เพียงพระองค์เดียว[10] และเพื่ออยู่เชยชมพระโฉมพระโพธิสัตว์ ก่อนเสด็จสวรรคตกลับไปจุติบนสวรรค์ชั้นดุสิต[6]

พุทธมารดา

แก้
พระนางสิริมายามายาขณะทรงสุบินนิมิต ศิลปะคันธาระ
พระนางสิริมหามายาขณะเหนี่ยวกิ่งสาละประสูติการพระพุทธเจ้า ศิลปะยุคราชวงศ์กุษาณ (ราวศตวรรษที่ 2-3)

พระนางสิริมหามายาทรงอภิเษกสมรสระหว่างเครือญาติกับพระเจ้าสุทโธทนะแห่งสักกะตามพระราชประเพณี[1][2][3][7] หลังการอภิเษกสมรส 20 ปี พระองค์ก็มิได้ทรงพระครรภ์ จนกระทั่งในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ก่อนพุทธศักราช 81 ปี ขณะนั้นพระองค์ในช่วงมัชฌิมวัย[6] พระองค์ทรงพระสุบินว่าจาตุมหาราชิกายกพระแท่นบรรทมของพระองค์ไปยังป่าหิมพานต์ เทพทั้งสี่ได้กราบบังคมทูลเชิญให้พระองค์สรงน้ำในสระอโนดาต ชำระพระองค์ด้วยเครื่องหอมนานาชนิด แล้วเสด็จขึ้นบรรทม ณ พระแท่นภายในวิมานทองบนภูเขาสีเงิน ทรงบ่ายพระพักตร์ไปทิศตะวันออก ขณะนั้นมีพญาช้างเผือกนำดอกบัวขาวกลิ่นหอมแรกแย้มมาถวาย ก่อนร้องเสียงดัง แล้วเดินทักษิณาวัตรรอบพระแท่นสามรอบ ครั้นรุ่งขึ้นจึงกราบบังคมทูลแก่พระภัสดาถึงนิมิตนั้น พระเจ้าสุทโธทนะจึงมีรับสั่งให้โหรประจำราชสำนักทำนาย ซึ่งโหรหลวงได้ทำนายไว้ว่า "พระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์พระองค์จักมีพระราชโอรส พระราชโอรสนั้นถ้าอยู่ครองราชย์ก็จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ถ้าเสด็จออกบวชจักได้เป็นพระพุทธเจ้า"[11]

ครั้นเมื่อพระครรภ์ครบถ้วนทศมาสกับอีกเจ็ดวัน[6] พระนางสิริมหามายาจึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระราชสวามี เพื่อเสด็จแปรพระราชฐานไปยังเทวทหะอันเป็นมาตุภูมิเพื่อประสูติการพระราชโอรสตามราชประเพณีนิยม ระหว่างเสด็จแปรพระราชฐาน ได้ทรงหยุดพักพระอิริยาบถใต้ต้นสาละป่าลุมพินี ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อนั้นพระองค์จึงประชวรพระครรภ์และทรงยืนเหนี่ยวกิ่งสาละประสูติการพระราชโอรส เมื่อวันศุกร์ เพ็ญเดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี[12] เมื่อพระกุมารประสูติขึ้นทรงพระดำเนิน 7 ก้าวโดยมีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ ผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดร ทรงยกพระหัตถ์ขวา แล้วทรงชี้พระดัชนีขึ้นฟ้าแล้วกล่าวอภิวาทวาจาอย่างน่าอัศจรรย์ว่า "อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฎฺโฐ หมสฺมิ โลกสฺส เสฎฺโฐ หมสฺมิ โลกสฺส อนมนฺติมา เม ชาติ นฺตถิทานิ ปุนพฺภโวติ" อันมีความหมายว่า "เราเป็นผู้เลิศที่สุดในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา ชาติอื่น ภพอื่นจะไม่มีอีก"[13] หรืออาจแปลว่า "เราเป็นยอดของโลก เราเป็นใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก ความเกิดของเรานี้เป็นครั้งที่สุด บัดนี้ความเกิดอีกมิได้มี"[14] ซึ่งกรณีที่พระพุทธเจ้าเดินได้เมื่อแรกประสูตินั้น พุทธทาสภิกขุ อธิบายว่าการเดินได้เจ็ดก้าวนั้นเป็นปริศนาธรรมมากกว่า เพราะสื่อถึงโพชฌงค์ 7 ประการ หาใช่เกิดจากอภินิหาริย์พิเศษจาการเป็นโพธิสัตว์จึงทำให้เดินได้แต่ประการใด[15]

หลังประสูติกาลพระราชกุมารได้สามวัน อสิตดาบส (Asita) หรือกาฬเทวิลดาบส (Kāḷadevil) นักบวชที่คุ้นเคยกับพระเจ้าสุทโธทนะได้เดินทางมาชื่นชมพระบารมีของพระกุมาร และเมื่อได้ตรวจลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการอย่างละเอียด จึงก้มกราบพระกุมารด้วยความเคารพ พร้อมกับกำสรวลและหัวเราะไปด้วย สร้างความแปลกพระทัยแก่พระเจ้าสุทโธทนะยิ่งนัก พระเจ้าสุทโธทนะจึงทูลถามดาบสว่าเป็นเช่นนี้เพราะเหตุใด อสิตดาบสจึงตอบพระราชปุจฉาว่า "ที่หัวเราะเพราะตื้นตันใจที่ได้เจอพระกุมารที่มีบุญญาบารมี มีลักษณะมหาบุรุษครบ 32 ประการ นับว่าหาไม่ได้ในภัททกัปป์นี้ อาตมามีวาสนาแท้ที่ได้เห็น และที่ร้องไห้เพราะพระโอรสเจริญวัยขึ้นจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสดาเอกของโลก พระองค์จะแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลางและที่สุด เสียดายที่อายุอาตมาภาพแก่เกินไป คงไม่อาจได้สดับฟังคำสอนของพระองค์ จึงอดกลั้นน้ำตาไม่ไหว"[13]

หลังจากประสูติกาลพระราชกุมารได้ห้าวัน พระเจ้าสุทโธทนะได้อัญเชิญพราหมณ์ 108 ตนที่เจนจบไตรเพทมาในพระราชวัง พราหมณ์ทั้งหลายขนานพระนามพระกุมารว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "ผู้มีความต้องการอันสำเร็จ"[13][16]

สวรรคต

แก้

หลังประสูติกาลพระราชกุมารได้เจ็ดวัน พระนางสิริมายามายาก็สวรรคต สร้างความโศกาอาดูรแก่พระเจ้าสุทโธทนะและพระประยูรญาติอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้เจ้าชายสิทธัตถะจึงอยู่ภายใต้การอภิบาลของพระนางปชาบดีโคตมี พระขนิษฐาพระนางสิริมหามายา ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ มีพระราชโอรส-ธิดาสองพระองค์คือ เจ้าชายนันทะ (Nanda) และเจ้าหญิงรูปนันทา (Rūpanandā)[13][16][17] ส่วนพระนางสิริมหามายาได้ไปจุติเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นดุสิต[10][13][16]

หลังพระโคตมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้มีดำริที่จะสนองพระคุณพุทธมารดาด้วยการแสดงธรรมเทศนาด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม จึงเสด็จขึ้นไปแสดงธรรมบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อพระอินทร์เห็นพุทธองค์เสด็จขึ้นมายังสรวงสวรรค์นั้นก็เกิดปีติเกษมสานต์ ประณมหัตถ์อภิวาท ขอประกาศให้เทวดาทุกชั้นฟ้ามาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อสดับพระธรรมเทศนา ซึ่งพระพุทธเจ้าได้มีพระประสงค์ให้พุทธมารดาขึ้นมา ณ ที่ประชุมเทวดา แต่มิทรงทอดพระเนตรเห็น จึงทูลถามพระอินทร์ เมื่อพระอินทร์ทราบถึงความประสงค์ของพุทธองค์ จึงเสด็จไปทูลเชิญพุทธมารดาที่ประทับอยู่สวรรค์ชั้นดุสิตไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าตามพุทธประสงค์ เมื่อพระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นพระนางสิริมหามายาแล้ว ก็ทรงปีติโสมนัสยิ่ง จึงยกพระหัตถ์เบื้องขวากวักทูลเชิญพระมารดาเข้ามาใกล้ ๆ เพื่อประกาศพระคุณแห่งมารดาแก่เทวดาทั้งหลายที่มาชุมนุม ณ ที่นั้น ก่อนจะแสดงพระอภิธรรมเจ็ดพระคัมภีร์ เมื่อจบพระคัมภีร์ที่เจ็ด พระนางสิริมหามายาก็บรรลุพระโสดาปัตติผล สมประสงค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจึงเสด็จกลับโลกมนุษย์เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11[18][19]

ประติมานวิทยา

แก้
 
ประติมากรรมรูปพระนางสิริมหามายาที่ปรากฏในลลิตวิสตรสูตรโบโรบูดูร์ ประเทศอินโดนีเซีย

ในวรรณคดีทางพุทธศาสนาและงานพุทธศิลป์ พระนางสิริมหามายาจะมีภาพลักษณ์ของพระชนนีที่ทรงพระสิริโฉม ดังปรากฏใน ลลิตวิสตรสูตร ความว่า

"ประกายความงามของพระนางดุจทองคำบริสุทธิ์ พระเกศาหยักหอมจรุงขลิบนิลคล้ายผึ้งสีดำใหญ่ ดวงเนตรดุจกลีบปทุมชาติ พระทันต์เรียงงามดั่งดวงดาราบนฟ้าสุราลัย"

ประติมากรรมเกี่ยวกับพระองค์มักจะมาจากฉากที่พระองค์ทรงสุบินนิมิตเห็นพระยาช้างเผือก และฉากที่พระองค์ได้ให้ประสูติกาลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ป่าลุมพินี โดยทรงยืนหนี่ยวกิ่งสาละ มิแรนดา ชอว์ (Miranda Shaw) นักวิชาการพุทธศาสนาอธิบายว่าในฉากที่พระนางสิริมหามายาประสูติพระพุทธเจ้านั้นจะมีการสอดแทรกภาพของยักขินีซึ่งเป็นนางไม้ชนิดหนึ่งไว้ด้วย

ศาสนาเปรียบเทียบ

แก้

จากพระสุบินนิมิตของพระนางสิริมหามายาก่อนจะมีการปฏิสนธิในครรภ์ ตามพุทธประวัติฉบับบาลีได้ระบุว่าพระนางสิริมหามายาไม่ได้มีการร่วมเพศกับพระราชสวามีช่วงทรงครรภ์หรือเสพกามรสอื่นใด แต่เหตุผลนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเจ้าชายสิตธัตถะไม่ได้เกิดจากการร่วมเพศระหว่างพระบิดาและพระมารดา[20] อย่างไรก็ตามด้วยความคล้ายคลึงบางประการนี้จึงถูกผูกเข้ากับเรื่องราวการประสูติของพระเยซูด้วย[21]

ซี. พี. ทุนดี (Z. P. Thundy) ได้ตรวจสอบความคล้ายคลึงกันระหว่างของการประสูติพระพุทธเจ้าโดยพระนางสิริมหามายา กับพระเยซูโดยพระนางมารีย์พรหมจารี ซึ่งพบว่ามีส่วนคล้ายกัน แต่ก็มีส่วนที่ต่างออกไป เช่น พระนางมารีย์ถึงแก่มรณกรรมจึงถูกยกขึ้นสวรรค์ แต่พระนางสิริมหามายาสวรรคตหลังประสูติกาลพระพุทธเจ้าไม่นานเช่นเดียวกับพุทธมารดาองค์ก่อนหน้า[21] แม้ทุนดีจะมิได้ยืนยันว่ามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใด ๆ ที่เชื่อมโยงว่าการประสูติของพระเยซูรับความเชื่อมาจากคติพุทธศาสนา แต่เขาระบุว่า "คงถึงเวลาแล้วที่นักวิชาการคริสต์ศาสนาจะพิจารณาความเชื่อทางพุทธศาสนาสำหรับการค้นหาแนวคิด [เรื่องการประสูติ] นี้"[21]

ทั้งนี้ได้มีนักวิชาการบางส่วนออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องกันของการกำเนิดพระศาสดา เป็นต้นว่าพอลา เฟรดริกเซน (Paula Fredriksen) กล่าวว่าไม่มีงานวิจัยใดพบว่าพระเยซูทรงออกจากความเป็นยิวปาเลสไตน์ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1[22] ส่วนเอ็ดดีและบอยด์ (Eddy and Boyd) กล่าวว่าไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากแหล่งข้อมูลภายนอกของผู้เขียนพันธสัญญาใหม่ และนักวิชาการส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าอิทธิพลที่เข้ามาในศาสนาคริสต์ช่วงศตวรรษแรกนั้นไม่เชื่อถืออย่างสิ้นเชิง เพราะชาวยิวกาลิลีที่ยึดถือความเชื่ออย่างเอกเทวนิยมนั้นจะไม่ยอมรับความเชื่อของลัทธินอกศาสนา[23]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ. "ศากยวงศ์". ประตูสู่ธรรม. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "พระญาติฝ่ายพระพุทธบิดาและพระพุทธมารดา". พุทธะ. 2553. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-05. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 "แคว้นสักกะและศากยวงศ์". พุทธะ. 2553. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-05. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 Buddhist Goddesses of India by Miranda Shaw (Oct 16, 2006) ISBN 0-691-12758-1 pages 45-46
  5. History of Buddhist Thought by E. J. Thomas (Dec 1, 2000) ISBN 81-206-1095-4 pages
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 "อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โสณเถรวรรคที่ ๕ อัปปายุกาสูตร". ภิกษุณี เอตทัคคะ 84000. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 ดาวสยาม วชิรปัญโญ, พระมหา. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย. กรุงเทพ : เม็ดทรายพริ้นติ้ง, พิมพ์ครั้งที่ 2, หน้า 27-31
  8. "อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จูฬวรรค สัมมาปริพพาชนิยสูตร". ภิกษุณี เอตทัคคะ 84000. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. อดิเทพ พันธ์ทอง (20 พฤษภาคม 2559). "พุทธประวัตินอกกระแส (ในไทย): "สิทธัตถะ" เกิดในสังคมแบบชนเผ่า ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. 10.0 10.1 "ทำไมหลังจากพระนางสิริมหามายาประสูติพระราชโอรสแล้วจึงมีพระชนชีพอยู่ต่อมาได้เพียง 7 วัน". วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-18. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. "พระนางสิริมหามายาทรงสุบินนิมิต". พุทธะ. 2553. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-29. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. "ทำไมพระนางสิริมหามายา ไม่ประสูติพระโอรสสิทธัตถะในพระราชวัง ทำไมต้องคลอดในป่า". วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-10. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 ดาวสยาม วชิรปัญโญ, พระมหา. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย. กรุงเทพ : เม็ดทรายพริ้นติ้ง, พิมพ์ครั้งที่ 2, หน้า 33-37
  14. "ทารกแรกเกิดเดินได้บทพิสูจน์เจ้าชายสิทธัตถะประสูติเดินได้ 7 ก้าวเป็นจริง ?". บ้านเมือง. 31 พฤษภาคม 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-11. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. สุรพศ ทวีศักดิ์ (7 กันยายน 2556). "พุทธศาสนากับความเป็นมนุษย์". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. 16.0 16.1 16.2 "พระประสูติกาลแห่งพระโพธิสัตว์". พุทธะ. 2553. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-29. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. "พระมหาปชาบดีโคตรมีเถรี". ภิกษุณี เอตทัคคะ 84000. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. "โปรดพุทธมารดา ตรัสสอนอภิธรรม ครั้งแรก และพระมารดาได้บรรลุธรรมอะไร". วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-07. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  19. "ทรงเสด็จดาวดึงส์โปรดพระพุทธมารดา". พุทธะ. 2553. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-08. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  20. http://www.accesstoinsight.org
  21. 21.0 21.1 21.2 Buddha and Christ by Zacharias P. Thundy (1993), ISBN 90-04-09741-4, pp. 95–96
  22. Fredriksen, Paula. From Jesus to Christ. Yale University Press, 2000, p. xxvi.
  23. The Jesus legend: a case for the historical reliability of the synoptic gospels by Paul R. Eddy, Gregory A. Boyd (2007), ISBN 0-8010-3114-1, pp. 53–54

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้