Nothing Special   »   [go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

แอดการ์ เดอกา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
“ภาพเหมือน” (ราวปี ค.ศ. 1854) โดย แอดการ์ เดอกา

แอดการ์ เดอกา (ฝรั่งเศส: Edgar Degas, 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2377 - 27 กันยายน พ.ศ. 2460) จิตรกร ประติมากร ช่างภาพพิมพ์ และช่างวาด สมัยอิมเพรสชันนิสม์คนสำคัญของประเทศฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 เดอกาเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนก่อตั้งศิลปะแบบอิมเพรสชันนิสม์แต่เดอกามาหันหลังให้และชอบให้เรียกตนเองว่าศิลปินสัจนิยม (Realist) มากกว่า นอกจากนั้นเดอกายังเป็นช่างเขียนแบบ (Draughtsman) ที่มีฝีมือดี ภาพที่เดอกาชอบวาดคือภาพนักเต้นบัลเลต์ ซึ่งเป็นมากกว่าครึ่งของงานเขียนทั้งหมดที่เดอกาทำ การวาดทำให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญของเดอกาในการวาดความเคลื่อนไหว เช่นเดียวกับภาพที่วาดเกี่ยวกับสนามม้าและผู้หญิงเปลือย ภาพเหมือนของเดอกาถือกันว่าเป็นภาพเขียนที่อยู่ในบรรดาภาพเขียนมีลักษณะดีที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะ

เมี่อเริ่มอาชีพเดอกาต้องการจะเป็นจิตรกรประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาที่เขียนภาพจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์คลาสสิก ประวัติศาสตร์คริสต์ศาสนา ตำนานเทพเจ้า และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้น เดอกาก็ได้เตรียมตัวโดยการศึกษามาทางนี้โดยเฉพาะ เมื่ออายุได้ราวสามสิบปีกว่า ๆ เดอกาก็เปลี่ยนใจแต่ก็ได้นำความรู้ทางจิตรกรรมประวัติศาสตร์มาผสมกับการวาดภาพร่วมสมัย ฉะนั้นเดอกาจึงถือว่าเป็นจิตรกรคลาสสิกที่วาดภาพสมัยใหม่

เบื้องต้น

[แก้]

อีแลร์-แฌร์แม็ง-แอดการ์ เดอกา (Hilaire-Germain-Edgar Degas) เกิดที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นลูกชายคนโตในบรรดาพี่น้องห้าคนของเซแล็สติน มูซ็อง เดอ กาและโอกุสแต็ง เดอ กา นายธนาคาร ครอบครัวเดอกามีฐานะร่ำรวยพอประมาณ เมื่อเดอกาอายุได้ 11 ขวบ (เดอกาเปลื่ยนการสะกดนามสกุลตามที่ครอบครัวทำโดยเปลื่ยนการสะกด “เดอ กา” (De Gas) มาเป็น “เดอกา” (Degas) ตั้งแต่ยังหนุ่มเพื่อเป็นการเลื่ยงการเสรแสร้งที่แสดงว่ามาจากครอบครัวที่มีเชื้อสาย)[1] เดอกาเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนมัธยมหลุยส์-เลอ-กร็อง จนจบปริญญาตรี (baccalauréat) ทางวรรณคดีเมื่อ ค.ศ. 1853

เดอกาเริ่มวาดภาพอย่างจริงจังตั้งแต่อายุไม่มาก พออายุได้ 18 ปีเดอกาก็จัดห้องหนึ่งในบ้านให้เป็นห้องวาดภาพและเริ่มงานคัดลอกภาพในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ที่ปารีส พ่อของเดอกาอยากให้ลูกชายเรียนทางกฎหมาย เดอกาจึงสมัครเข้าคณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปารีสในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1853 แต่ก็มิได้ใส่ใจในการศึกษาเท่าใดนัก ในปี ค.ศ. 1855 เดอกาพบฌอง เอากุสต์ โดมินิค อิงเกรส์ ผู้ที่เดอกานับถือมากแนะนำเดอกาว่า “วาดเส้น, วาดเข้าไป” (draw lines, young man, many lines) ในเดือนเมษายนของปีเดียวกันเดอกาได้รับเข้าสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งปารีส (École des Beaux-Arts) เรียนการวาดเส้นกับลุยส์ ลาโมธโดยวาดตามอิทธิพลของอิงเกรส์[2] ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1856 เดอกาเดินทางไปอิตาลีและไปอยู่ที่นั่นสามปี เมื่ออยู่ที่อิตาลีเดอกาก็ลอกภาพของมีเกลันเจโล ราฟาเอล และ ทิเชียน และของศิลปินเรอเนซองส์คนอื่น ๆ และมักจะเลือกส่วนศีรษะจากฉากแท่นบูชาต่าง ๆ และวาดหรือเขียนแบบภาพเหมือน[3] ระหว่างช่วงเวลานี้เดอกาศึกษาและกลายเป็นจิตรกรผู้ชำนาญในทางเท็คนิคของการเขียนภาพแบบศิลปะสถาบันและศิลปะคลาสสิก[4]

อาชีพทางศิลปะ

[แก้]

หลังจากกลับจากอิตาลีในปี ค.ศ. 1859 เดอกาก็ศึกษาต่อโดยการลอกภาพจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ และยังคงรักการลอกภาพจนกระทั่งอายุกลางคน[5] เมื่อต้นคริสต์ทศศตวรรษ 1860 ขณะที่ไปเยื่ยมพอล วาลพิงชองเพื่อนที่รู้จักกันมาแต่เด็กที่นอร์ม็องดี เดอกาก็เริ่มวาดรูปม้าเป็นครั้งแรก เดอกาแสดงภาพเขียนที่นิทรรศการศิลปะที่ปารีส (Salon de Paris) เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1865 เมื่อคณะกรรมการยอมรับภาพ “ฉากสงครามในยุคกลาง” (Scene of War in the Middle Ages) ซึ่งเป็นที่ได้รับความสนใจบ้างเพียงเล็กน้อย[6] แม้ว่าเดอกาจะแสดงภาพเขียนทุกปีในอีกห้าปีต่อมาที่นิทรรศการแต่ก็ไม่ได้ส่งภาพเขียนแบบประวัติศาสตร์อีกหลังจากภาพแรก ภาพ “การแข่งม้าวิ่งข้ามสิ่งกีดขวาง—จ็อกกีตกม้า” (Steeplechase—The Fallen Jockey) ที่แสดงเมื่อปี ค.ศ. 1866 แสดงให้เห็นว่าเดอกาเริ่มหันจากการเขียนภาพประวัติศาสตร์มาเขียนภาพร่วมสมัย ความเปลื่ยนแปลงนี้มีอิทธิพลส่วนใหญ่มาจากตัวอย่างของเอดวด มาเนท์ผู้ที่เดอกาพบเมื่อปี ค.ศ. 1864 ขณะที่ลอกภาพอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. การสะกดแบบที่เอ็ดการ์สะกดเป็นการสะกดแบบดั้งเดิมของสกุลเดอกา ก่อนที่จะมาเปลี่ยนเป็น “เดอ กา” จีน ซัทเธอร์แลนด์ บอกส์ อธิบายว่า “เดอ กา” เป็นการสะกดเพื่อแสดงว่ามาจากครอบครัวมีสกุล โดยพ่อของเดอกาเป็นผู้เปลี่ยนเมื่อย้ายมาปารีสเพื่อมาก่อตั้งสาขาธนาคารของครอบครัวที่มาจากเนเปิลส์ที่ฝรั่งเศส เรเนพี่ชายของเดอกายังคงใช้การสะกดแบบเจ้านาย แต่เดอกาเปลื่ยนการสะกดตั้งแต่ราวอายุได้ 30 ปี. โบแมนน์ และอื่น ๆ, ค.ศ. 1994 หน้า 98
  2. แคนาเดย์, ค.ศ. 1969, หน้า 930-931
  3. โบแมนน์ และอื่น ๆ, ค.ศ. 1994 หน้า 154
  4. รอสคิลล์, ค.ศ. 1983, หน้า 33
  5. โบแมนน์ และอื่น ๆ, ค.ศ. 1994 หน้า 151
  6. ทอมสัน, ค.ศ. 1988, หน้า 48
  7. กอร์ดอนและฟอร์จ, ค.ศ. 1988, หน้า 23

ข้อมูลเพิ่มเติม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

สมุดภาพ

[แก้]