Nothing Special   »   [go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

มหาวิหารนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี

พิกัด: 43°04′29″N 12°36′20″E / 43.07472°N 12.60556°E / 43.07472; 12.60556
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิหารนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี
Basilica di San Francesco d'Assisi
Basilica Sancti Francisci Assisiensis
ชั้นบนและชั้นล่างของมหาวิหารมองจากจัตุรัสเดลเลลอจเจ
แผนที่
43°04′29″N 12°36′20″E / 43.07472°N 12.60556°E / 43.07472; 12.60556
ที่ตั้งอัสซีซี, ประเทศอิตาลี
นิกายโรมันคาทอลิก
เว็บไซต์www.sanfrancescoassisi.org
ประวัติ
สถานะมหาวิหารรองสันตะปาปา
เสกเมื่อ1253
สถาปัตยกรรม
สถาปนิกMaestro Jacopo Tedesco [1]
ประเภทสถาปัตย์โบสถ์
รูปแบบสถาปัตย์โรมาเนสก์, โกธิกอิตาลี
งานฐานราก1227
โครงสร้าง
อาคารยาว80 เมตร (260 ฟุต)
อาคารกว้าง50 เมตร (160 ฟุต)
เนฟกว้าง18 เมตร (59 ฟุต)
การปกครอง
มุขมณฑลมุขมณฑลแห่ง Assisi-Nocera Umbra-Gualdo Tadino
แผนกPontifical Legation for the Basilicas of Saint Francis and Saint Mary of the Angels in Assisi[2]
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนAssisi, the Basilica of San Francesco and Other Franciscan Sites
ประเภทวัฒนธรรม
เกณฑ์i, ii, iii, iv, vi
ขึ้นเมื่อ2000 (สมัยที่ 24)
เลขอ้างอิง990
รัฐสมาชิกธงของประเทศอิตาลี อิตาลี
ภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือ

มหาวิหารนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี (อิตาลี: Basilica di San Francesco d'Assisi; อังกฤษ: Basilica of St. Francis of Assisi) ตั้งอยู่ที่เมืองอัสซีซี ประเทศอิตาลี เป็นโบสถ์โรมันคาทอลิกของคณะฟรันซิสกัน ซึ่งเป็นคณะนักบวชคาทอลิกที่นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีก่อตั้งขึ้นเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 13

ประวัติ

[แก้]

มหาวิหารนักบุญฟรังซิสฯ เริ่มสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นมหาวิหารที่มีด้วยกันสามชั้น ส่วนล่างเริ่มสร้างไม่นานหลังจากที่ฟรังซิสได้รับการประกาศเป็นนักบุญเมื่อปี ค.ศ. 1228 ซิโมเน ดิ พูเชียเรลโล (Simone di Pucciarello) เป็นผู้อุทิศที่ดินและบริเวณเนินเขาทางด้านตะวันตกของเมืองอัสซีซีให้เป็นที่สร้างโบส์ ที่ดินบริเวณนี้แต่เดิมเรียกว่า “เนินนรก” (อิตาลี: Collo d'Inferno; อังกฤษ: Hill of Hell) แต่ปัจจุบันเรียกกันว่า “เนินสวรรค์” (Hill of Paradise)

สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 9 ทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1228 แม้ว่าการก่อสร้างอาจจะเริ่มต้นแล้วก็ได้ ผู้ออกแบบและคุมงานคือภราดาเอเลียแห่งกอร์โตนา ศิษย์คนสำคัญของนักบุญฟรังซิสและเคยเป็นรองอัคราธิการของคณะฟรันซิสกัน ชั้นล่างของโบสถ์สร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1230 เมื่อวันสมโภชพระจิตเจ้าซึ่งเป็นวันฉลอง 50 วันหลังจากอีสเตอร์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1230 ก็มีการนำร่างที่ไม่เน่าเปื่อยของนักบุญฟรังซิสจากที่เก็บชั่วคราวที่โบสถ์นักบุญจอร์จซึ่งปัจจุบันเป็นมหาวิหารนักบุญกลารา (Basilica of St. Clare) มาไว้ที่ส่วนล่างของมหาวิหารที่สร้างเสร็จ

มหาวิหารชั้นบนเริ่มสร้างเมื่อ ค.ศ. 1239 และเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1253 ลักษณะการก่อสร้างเป็นแบบโรมาเนสก์ผสมสถาปัตยกรรมกอทิกแบบฝรั่งเศส ซึ่งเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมกอทิกแบบอิตาลีต่อมา

การตกแต่งของมหาวิหารทำโดยศิลปินสำคัญ ๆ ในยุคนั้นจากโรม แคว้นทัสกานี และ [อุมเบรีย]] ฉะนั้นนอกจากเป็นศาสนสถานสำคัญแล้วมหาวิหารนักบุญฟรังซิสจึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ศิลปะของอิตาลีด้วย ชั้นล่างมีจิตรกรรมฝาผนังของจิตรกรผู้มีชื่อเสียง เช่น ชิมาบูเย และจอตโต ดี บอนโดเน ผู้ซึ่งวาดชั้นบนของมหาวิหารเป็นชีวประวัติของ นักบุญฟรังซิสด้วย

สมเด็จพระสันตะปาปานิโคลัสที่ 4 ซึ่งอดีตเป็นอัคราธิการคณะฟรันซิสกันได้เลื่อนฐานะของโบสถ์ขี้นให้เป็นโบสถ์สันตะปาปาเมื่อ ค.ศ. 1288

จัตุรัสเดลเลลอจเจ (Piazza delle Logge) ที่เป็นลานหน้าวัดและทางเดินไปสู่โบสถ์สร้างเมื่อค.ศ. 1474 ใช้เป็นที่พักพิงของนักแสวงบุญที่พากันมาสักการะนักบุญฟรังซิส

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1986 และ เดือนมกราคม ค.ศ. 2002 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เสด็จมาที่มหาวิหารเพื่อจะสวดมนต์เพื่อความสันติสุข

เมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1997 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 816 ปีของวันเกิดของนักบุญฟรังซิสก็เกิดมีแผ่นดินไหวที่อาซิซิทำให้คนตายไป 4 คน มหาวิหารได้รับความเสียหายอย่างหนักต้องปิดเป็นเวลาสองปีก่อนที่จะซ่อมเสร็จ

ชั้นล่างของมหาวิหาร

[แก้]

การตกแต่งทั่วไป

[แก้]
ทางเข้าชั้นล่างทางด้านข้าง

หลวงพ่อเอเลียเป็นผู้ออกแบบชั้นล่างของมหาวิหารเป็นห้องใต้ดิน (crypt) โดยให้เพดานโค้งสัน (ribbed vault) ท่านมีประสบการณ์การก่อสร้างจากสร้างที่ฝังศพขนาดใหญ่ในภูเขาเมื่อไปจำพรรษาอยู่ที่ซีเรีย

ทางเข้าชั้นล่างอยู่ทางด้านข้างภายใต้ซุ้มประตูแบบสถาปัตยกรรมกอทิกที่สร้างราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีประตูไม้สองประตูโดยฝีมือช่างไม้จากอุมเบรียจากคริสต์ศตวรรษที่ 16 ทางด้านหนึ่งเป็นคูหาสวดมนต์ของพระคาร์ดินัล อัลบอร์โนซ (Egidio Albornoz) ผู้มีหน้าที่ทางกฎหมายของนครรัฐวาติกันระหว่างปี ค.ศ. 1350 ถึงปี ค.ศ. 1367 ที่อุทิศให้นักบุญแคเธอรินแห่งอะเล็กซานเดรีย งานจิตรกรรมฝาผนังภายในคูหาเป็นฉากชีวิตของนักบุญแคเธอรีน 8 ฉากวาดระหว่างปี ค.ศ. 1368 จนถึงปี ค.ศ. 1369 โดยอันเดรอัส พิกตอร์ เดอ โบโนเนีย (Andreas pictor de Bononia) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “อันเดรีย” ซึ่งอาจจะเป็นคนคนเดียวกับอันเดรีย เดอ บาร์โทลี (Andrea de’ Bartoli) ผู้เป็นจิตรกรประจำราชสำนักของอัลบอร์โนซ แต่ไม่ใช่อันเดรีย ดา บาโลนยา (Andrea da Bologna) ที่มักจะอ้างอิงกันผิด ๆ รูปนักบุญในคูหาวาดโดยพาเซ ดิ บาร์โทโล ด'อาซิซิ (ค.ศ. 1344 - ค.ศ. 1368)

ทางด้านซ้ายเป็นคูหาสวดมนต์นักบุญเซบาสเตียนซึ่งวาดโดยจอร์เจ็ตตี (Giorgetti) และฉากชีวิตของนักบุญโดย จี. มาร์เทลลี (G. Martelli) ทางด้านขวามีอนุสรณ์สองอนุสรณ์ๆ หนึ่งเป็นของจิโอวานนี เดอ เซอร์ชิ (Giovanni de' Cerchi) และอีกด้านหนึ่งเป็นของจอห์นแห่งบรีน (John of Brienne) พระมหากษัตริย์เยรูซาเลมและเป็นจักรพรรดิสำเร็จราชการกรุงคอนสแตนติโนเปิล

สองข้างทางเดินกลางเป็นคูหาสวดมนต์ภายในซุ้มครึ่งวงกลม ตัวทางเดินกลางตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าที่สุดในมหาวิหารโดยจิตรกรที่เรียกกันว่า “ไมสโตร ดิซานฟรานเชสโก” (Maestro di San Francesco) เป็น 5 ฉากจาก “พระทรมานของพระเยซู” (Passion of Christ) ทางด้านขวา ทางด้านซ้ายเป็น 5 ฉากจาก “ชีวประวัติของนักบุญฟรังซิส” (Life of St. Francis) การจัดวางภาพสองชุดนี้ด้วยกันเช่นนี้เป็นการจงใจของคณะฟรังซิสกันเพื่อเป็นการแนะว่านักบุญฟรังซิสเปรียบเหมือนการมาครั้งที่สองของพระเยซู

ภาพที่วาดล้อมรอบด้วยกรอบสีน้ำเงินสดตกแต่งด้วยดาวทอง ภาพทางด้านล่างของกำแพงจางไปจนเกือบจะไม่เหลือรอยนอกจากทางกำแพงด้านขวาที่ยังเหลือภาพ“แม่พระและพระกุมารกับนักบุญ” โดยชิมาบูเย ภาพเขียนบนผนังใช้วิธีวาดโดยใช้สีฝุ่นผสมบนปูนแห้ง วาดเสร็จระหว่างปี ค.ศ. 1260 ถึงปี ค.ศ. 1263 ถือกันว่าเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่ดีที่สุดในแคว้นทัสกานีก่อนชิมาบูเย เมื่อมีผู้คนมาสักการะนักบุญฟรานซิสกันมากขึ้นทางโบสถ์จึงต้องสร้างคูหาสวดมนต์สำหรับครอบครัวสำคัญๆ ระหว่างปี ค.ศ. 1270 ถึงปี ค.ศ. 1350 สองข้างทางเดินกลางซึ่งทำให้ต้องทำลายจิตรกรรมฝาผนังไปมาก

คูหาสวดมนต์นักบุญมาร์แต็งแห่งตูร์

[แก้]

คูหาสวดมนต์แรกทางซ้ายอุทิศให้นักบุญมาร์แต็งแห่งตูร์ สร้างโดยคาร์ดินาลดา มอนเตฟอเร (Cardinal da Montefiore) ตกแต่งระหว่างปี ค.ศ. 1317 ถึงปี ค.ศ. 1319 เป็นจิตรกรรมฝาผนัง 10 ฉากของชีวิตนักบุญมาร์ติน วาดโดยซิโมเน มาร์ตินิ และมีบานภาพพับที่มีภาพของนักบุญหลายองค์ งานภายในคูหาสวดมนต์นักบุญมาร์ตินเป็นงานที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของซิโมเน มาร์ทินีและเป็นงานจิตรกรรมที่ดีเด่นที่สุดของคริสต์ศตวรรษที่ 14 สิ่งที่น่าเสียดายคือสีขาวตะกั่วของมาร์ทินีหม่นลงไปตามกาลเวลา

คูหาสวดมนต์อีกคูหาหนึ่งทางซ้ายอุทิศให้กับนักบุญปีเตอร์แห่งอัลคันทารา (St. Peter of Alcantara)

คูหาสวดมนต์อื่น ๆ

[แก้]
“Maesta” กับ นักบุญฟรานซิส โดยชิมาบูเย
“Madonna dei Tramonti” by เปียโตร ลอเร็นเซ็ตติ (Pietro Lorenzetti)
แท่นบูชาพระสันตะปาปาและการตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังทั้งบริเวณ

คูหาสวดมนต์ทางขวาอุทิศให้:

  • นักบุญหลุยส์แห่งตูลูส (St. Louis of Toulouse) และนักบุญสตีเฟนแห่งฮังการี (St. Stephen of Hungary) จิตรกรรมฝาผนังเป็นฝีมือของโดโน โดนี (Dono Doni) สร้างเมื่อ ค.ศ. 1575 และหน้าต่างประดับกระจกสีโดย ซิโมเน มาร์ทินี
  • นักบุญแอนโทนีแห่งปาดัว (St. Anthony of Padua) จิตรกรรมฝาผนัง เป็นฝีมือของเชซาเร เซอร์เม (Cesare Sermei) สร้างเมื่อ ค.ศ. 1610
  • นักบุญมารีย์ชาวมักดาลา (St. Mary Magdalene) คูหาสวดมนต์นี้สร้างโดยเตโอบัลโด ปอนตาโน (Teobaldo Pontano) บิชอปแห่งอัสซีซีระหว่างปี ค.ศ. 1296 ถึงปี ค.ศ. 1329 เป็นคูหาที่มีงานสำคัญของเวิร์คช็อปของจอตโต ดี บอนโดเน หรือจอตโตอาจจะวาดด้วยตนเองราวปี ค.ศ. 1320 ซึ่งวาซารีสันนิษฐานผิดว่าเป็นงานของพูชิโอ ชาแพนนา (Puccio Capanna) บนกำแพงเป็นฉากจาก “ชีวิตของแมรี แม็กดาเลน” (Life of Mary Magdalene) เหนือภาพเหมือนของทีโอบาลโด ปอนตาโน ขณะที่รอบเพดานโค้งตกแต่งด้วยรูปพระเยซู พระแม่มารี แมรี แม็กดาเลน และนักบุญลาซารัสผู้เป็นพี่ชายของแมรี แม็กดาเลน

เหนือทางเดินกลางเป็นเพดานโค้งประทุน สุดทางเป็นมุขครึ่งวงกลมที่ตกแต่งอย่างวิจิตรด้วยจิตรกรรมฝาผนัง ภาพเขียนทางขวาเป็นชีวิตของพระเยซูเมื่อยังทรงพระเยาว์ซึ่งบางส่วนเป็นงานของจอตโตและเวิร์คช็อพ และฉาก “การประสูติของพระเยซู” (Nativity) โดยช่างที่ไม่ทราบชื่อที่เรียกกันว่า “มาสเตอร์แห่งนิโคโล” (Maestro di San Nicola) ชั้นล่างสุดเป็นจิตรกรรมฝาผนัง 3 รูปของนักบุญฟรานซิสช่วยเด็กสองคนที่ตายไปแล้วบนฉากหลังที่เป็นทิวทัศน์ หน้าคนในภาพแสดงเริ่มแสดงออกถึงอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ทางศิลปะของยุคนั้น

บนผนังทางเดินกลางชิมาบูวาดงานที่สำคัญที่สุด “แม่พระครองบัลลังก์และนักบุญฟรังซิส” (Our Lady enthroned and Saint Francis) ปี ค.ศ. 1280 ซึ่งว่ากันว่าเป็นภาพที่เหมือนนักบุญฟรังซิสตัวจริงมากที่สุด ลักษณะภาพเป็นแบบศิลปะกอทิกซึ่งต่างกันมากจากงานของจอตโตตรงที่มีชีวิตจิตใจมากกว่า

ทางขวาของทางเดินกลางเป็นคูหาสวดมนต์เซนต์นิโคลัสแห่งบารี (Chapel of St. Nicolas of Bari) ผู้จ้างอาจจะเป็นนโปลิโอเน ออร์ซินิ (Napoleone Orsini) ผู้เป็นผู้แทนของพระสันตะปาปา เป็นจิตรกรรมฝาผนัง 10 ภาพโดยช่างที่ไม่ทราบชื่อที่เรียกกันว่า “มาสเตอร์แห่งนิโคโล” ระหว่างปี ค.ศ. 1295 ถึงปี ค.ศ. 1305 เป็นภาพปาฏิหาริย์และการแสดงความกรุณาของนักบุญนิโคลัส ภาพชุดนี้มีอิทธิพลมาจากชุด “ตำนานของนักบุญฟรังซิส” ที่อยู่ชั้นบนของมหาวิหาร ซึ่งวาซารีสันนิษฐานผิดว่าเป็นงานของจอตโต ช่างคนเดียวกันวาดภาพ “แม่พระรับสาร” (Annunciation) ในคูหาสวดมนต์ตรงกันข้าม

ทางเดินกลางและแท่นบูชา

[แก้]

ด้านซ้ายของทางเดินกลางตกแต่งโดยปีเอโตร โลเรนเซตตี (Pietro Lorenzetti) จิตรกรชาวเซียนนา ระหว่างปี ค.ศ. 1315 ถึงปี ค.ศ. 1330 ซึ่งวาซารีสันนิษฐานผิดว่าเป็นงานของจอตโตและพูชิโอ ชาแพนนา จิตรกรรมฝาผนังชิ้นนี้เป็นงานชิ้นเอกของลอเร็นเซ็ตติ เป็นชุดภาพ 6 ภาพเกี่ยวกับ “พระทรมานของพระเยซู” (Passion of Christ) โดยเฉพาะภาพ “การนำร่างของพระเยซูลงจากกางเขน”[1] (Deposition of the Cross) เป็นภาพที่แสดงอารมณ์ของผู้อยู่ในภาพเป็นอย่างมาก การสร้างจิตรกรรมฝาผนังชิ้นนี้แบ่งเป็น 330 ขั้นซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีจึงวาดเสร็จแม้ลอเร็นเซ็ตติจะได้รับความช่วยเหลือจากผู้ช่วย นอกจากนั้นลอเร็นเซ็ตติยังตกแต่งโบสถ์น้อยนักบุญยอห์นแบปทิสต์ (Chapel of St John the Baptist) ข้างๆ ด้วยภาพ “Madonna dei Tramonti” การจัดวางระหว่างพระเยซูเมื่อยังทรงพระเยาว์และ “พระทรมานของพระเยซู” เป็นการเปรียบเทียบความมีความรู้สึกเศร้าใจไปกับความทุกข์ของผู้อื่นระหว่างพระเยซูกับนักบุญฟรังซิส

แท่นบูชาพระสันตะปาปาตรงมุขทำด้วยหินก้อนเดียวจากโคโมเมื่อ ค.ศ. 1230 รอบแท่นบูชาตกแต่งด้วยเพดานโค้งกอธิคที่รับโดยเสาหลายแบบ เสา 12 เสาที่ล้อมรอบแท่นบูชาถูกรื้อออกไปเมื่อ ค.ศ. 1870 ที่นั่งสวดมนต์สร้างด้วยไม้วอลนัตเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1471 โดยอพอลโลนิโอ เพโตรชชิ ดา ริพาทรานโซนิ (Apollonio Petrocchi da Ripatransone) ช่วยโดยทอมัสโซ ดิ อันโตนิโอ ฟิโอเร็นทิโน (Tommaso di Antonio Fiorentino) และอันเดรีย ดา มอนเทฟาลโค (Andrea da Montefalco)

เมื่อจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นอุปมานิทัศน์ของพระเยซูถูกตรึงกางเขนโดยสเตฟานโน ฟิโอเร็นทิโน (Stefano Fiorentino) ถูกทำลายไปเมื่อปี ค. ศ. 1622 ก็ทำภาพใหม่ทับเป็นภาพ “การพิพากษาครั้งสุดท้าย” (Last Judgment) โดย เซซาเร เซอร์เม ดิ ออร์เวียตโต (Cesare Sermei di Orvieto)

ภาพเขียนบนมุขเป็นภาพ “ชัยชนะของนักบุญฟรังซิส” (Triumph of St Francis) และอุปมานิทัศน์สามภาพของ “ความเชื่อฟัง” “ความจน” “ความบริสุทธิ์” เชื่อกันว่าวาดโดย “นายช่างแห่งเวเล” หรือที่เรียกกันว่า “นายช่างแห่งเพดานมหาวิหารเซนต์ฟรานซิส” ผู้เป็นลูกศิษย์ของจอตโตเมื่อปี ค.ศ. 1330 หน้าต่างประดับกระจกสีเชื่อกันว่าทำโดยจิโอวานนี ดิ โบนิโนและเวิร์คช็อพ

ห้องใต้ดิน

[แก้]
ที่ฝังศพนักบุญฟรังซิสใต้มหาวิหาร

กลางทางเดินกลางเป็นทางลงชั้นใต้ดินสองข้างนำไปสู่ที่ฝังศพของนักบุญฟรานซิส ที่ฝังศพพบเมื่อ ค.ศ. 1818 หลังจากนักบุญฟรานซิสเสียชีวิตหลวงพี่เอเลียเอาร่างไปซ่อนเพื่อป้องกันการแก่งแย่งร่างของนักบุญไปทั่วยุโรป สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9เป็นผู้สั่งให้สร้างห้องใต้ดินภายใต้มหาวิหาร โดยให้พาสคาเล เบลลี (Pasquale Belli) เป็นผู้ออกแบบด้วยหินอ่อนแบบศิลปะฟื้นฟูคลาสสิก แต่มาออกแบบเป็นแบบฟื้นฟูโรมาเนสก์ภายหลังโดยอูโก ทาร์ชิ (Ugo Tarchi) ระหว่าง ปี ค.ศ. 1925 ถึงปี ค.ศ. 1932

โลงหินโบราณที่มัดด้วยเหล็กของนักบุญฟรานซิสวางเด่นอยู่บนแท่นบูชา เมื่อปี ค.ศ. 1934 ก็มีการฝังร่างของภราดาคณะฟรันซิสกันสึ่องค์ในกำแพงรอบแท่นบูชา ต่อมาก็เพิ่มผอบใส่กระดูกของจาโคปา เดอิ เซ็ทเทโซลิ (Jacopa dei Settesoli) ตรงทางเข้า

อารามนักบุญฟรานซิส

[แก้]
ลานภายในระเบียงคดในสำนักสงฆ์นักบุญฟรานซิส
Crucifixion โดยชิมาบูเย ที่ได้รับความเสียหาย

มหาวิหารนักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซีเป็นส่วนหนึ่งของอารามซาโครคอนเวนโต (Sacro Convento Friary) ตัวไฟรอารีตั้งอยู่ติดกับมหาวิหารโดยเป็นสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ประกอบด้วยซุ้มโค้ง 53 โค้งและค้ำยันที่แข็งแกร่งอยู่บนเนินสูง เมื่อมองจากข้างล่างจะดูเหมือนป้อม [2] ตัวไฟรอารีสร้างด้วยหินสีขาวและชมพูจากภูเขาซูบาซิโอ ไฟรอารีมีไฟรอาร์อาศัยอยู่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1230 มาจนถึงปัจจุบันนี้ การก่อสร้างใช้เวลานานทำให้ลักษณะสถาปัตยกรรมจึงเป็นแบบผสมผสานระหว่างโรมาเนสก์กับกอธิค อาคารส่วนใหญ่สร้างในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาซิกส์ตุสที่ 4 ระหว่างปี ค.ศ. 1474 ถึงปี ค.ศ. 1476

ในปัจจุบันสำนักสงฆ์มีห้องสมุดใหญ่ที่มีหนังสือจากยุคกลาง พิพิธภัณฑ์ที่มีงานศิลปะที่นักแสวงบุญอุทิศให้แก่วัดมาเป็นเวลาหลายร้อยปี รวมทั้งงานศิลปะ 57 ชิ้นที่เป็นศิลปะแบบฟลอเรนซ์และซีเอนาของงานชุดเพอร์คิน (Perkins collection)

หอระฆังสร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1239 เป็นแบบโรมาเนสก์

ชั้นบนของมหาวิหาร

[แก้]
ทางเดินกลางของชั้นบนที่ตกแต่งโดยจิตรกรรมฝาผนังโดยจอตโต
ไอแซคปฏิเสธอีเซา เชื่อว่าเขียนโดยจอตโต หรือ ไอแซค มาสเตอร์

ทางเข้ามหาวิหารชั้นบนอยู่ด้านหลังจากภายในซุ้มภายในอาราม สถาปัตยกรรมเป็นแบบกอธิค ภายในส่วนสำคัญตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังโดยจอตโตและชิมาบูเย หน้าต่างกระจกสีในบริเวณอารามสร้างโดยช่างชาวเยอรมนีที่มาทำงานอยู่ใกล้ๆ อาซิซิเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 หน้าต่างทางด้านซ้ายของทางเดินกลางเป็นฝีมือของช่างฝรั่งเศสที่สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1270 ทางด้านขวาเชื่อกันว่าสร้างโดย “นายช่างแห่งซานฟรานเชสโก” หน้าต่างเหล่านี้เป็นตัวอย่างของหน้าต่างประดับกระจกสีที่ดีที่สุดที่หนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ในอิตาลี

โถงกลางของมหาวิหารจะกว้างและแบ่งเป็นสี่ช่วง เพดานเป็นแบบประทุนซ้อนตกแต่งด้วยลวดลายกางเขนและใบไม้ เพดานสันสี่ด้านตกแต่งด้วยดาวสีทองบนพื้นสีน้ำเงิน เพดานอีกช่วงหนึ่งตกแต่งด้วย รูปในกรอบกลม (Roundels) ซึ่งมีรูปพระเยซูครึ่งองค์ตรงกันข้ามกับนักบุญฟรานซิส และพระแม่มารีย์ตรงกันข้ามกับนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา เพดานทางเข้าเป็นรูป 4 รูปของ “นักปราชญ์แห่งคริสตจักร” ซึ่งมีนักบุญพระสันตะปาปาเกรกอรีตรงกันข้ามกับนักบุญเจอโรม และนักบุญแอมโบรสแห่งมิลานตรงกันข้ามกับนักบุญออกัสตินแห่งฮิปโป เชื่อกันว่าวาดโดยไอแซค มาสเตอร์ (Isaac Master)

ที่นั่งสวดมนต์มีด้วยกัน 102 ที่นั่งที่แกะสลักอย่างสวยงามโดยโดเมนีโก อินโดวีนี (Domenico Indovini) เมื่อปี ค.ศ. 1501 ตรงกลางเป็นยกพื้นที่เป็นที่ตั้งของคาเทรดา (Cathedra) ของพระสันตะปาปา

ทางด้านตะวันตกของทางเดินกลาง และมุข ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังโดย ชิมาบูเย และเวิร์คช็อพ ซึ่งเริ่มราวปี ค.ศ. 1280 เป็นรูป “พระเยซูบนกางเขน” โดยมีนักบุญฟรานซิสคุกเข่าอยู่ข้างล่างแสดงความโศกเศร้าใจในความทุกข์ของพระเยซู แต่ภาพเขียนเริ่มหลุดร่อนเพราะความชื้น และกาลเวลา และ ออกไซด์ของตะกั่ว (lead oxide) ที่ใช้ผสมสีและทา เมื่อปูนที่ไม่สดทำปฏิกิริยาทำให้ภาพกลายเป็นเน็กกาทีฟ

ก่อนหน้าที่ชิมาบูเยจะเขียนภาพทางด้านเหนือของแขนกางเขน ก็มีภาพบนผนังที่เขียนมาก่อนโดยช่างจากทางภาคเหนือของยุโรป ซึ่งอาจจะเป็นช่างจากอังกฤษที่เขียนระหว่างปี ค.ศ. 1267 ถึงปี ค.ศ. 1270 ชิมาบูเยเขียนภาพในครึ่งวงกลมสองอัน และในวงกลมเป็นรูปของทูตสวรรค์ และอัครทูต อีกงานหนึ่ง “อิสยาห์” และ “เดวิด” เป็นของนายช่างชาวโรมัน

ด้านบนของทางเดินกลางทั้งสองด้านได้รับความเสียหายอย่างหนักระหว่างแผ่นดินไหวเมื่อปี ค.ศ. 1997 ซึ่งเป็นระเบียงภาพทั้งหมด 32 ภาพจากพันธสัญญาเดิม เริ่มด้วยพระเจ้าสร้างโลก และจบด้วยโจเซฟยกโทษให้พี่ ต่อไปเป็นภาพจากพันธสัญญาใหม่เรื่มด้วย “แม่พระรับสาร” จนถึง “สตรีที่หลุมศพ” ด้านบนสุดตกแต่งด้วย “Pentecost” ไปจนถึง “พระเยซูขึ้นสวรรค์” แต่ละช่วงใช้เวลาวาดราวหกเดือน จึงใช้เวลานานมากกว่าทั้งหมดจะเสร็จ จึงมีจิตรกรหลายชุด รวมทั้งจิตรกรโรมันและจิตรกรจากทัสเคนีมาวาดต่อจากชิมาบูเย เช่น จาโคโป ทอร์ริติ (Jacopo Torriti) และเปียโตร คาวาลลินี (Pietro Cavallini)

ภาพจิตรกรรมฝาผนังสองภาพของชีวิตของอิสอัค “อิสอัคให้พรยาโคบ” (Isaac blesses Jacob) และ “เอซาวต่อหน้าอิสอัค” (Esau in front of Isaac) เชื่อกันว่าเป็นฝีมือของจอตโตที่วาดระหว่างปี ค.ศ. 1290 ถึงปี ค.ศ. 1295 (ซึ่งวาซาริสันนิษฐานว่าเป็นงานของ ชิมาบูเย) แต่กระนั้นก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่าเป็นงานของไอแซค มาสเตอร์จากรายละเอียดของภาพที่มีฉากหลังเป็นฉากโรมัน บางคนก็ว่าไอแซ็ค มาสเตอร์อาจจะเป็นคนคนเดียวกับเปียโตร คาวาลลินีหรือลูกศิษย์

ปีเอโตร คาวาลลินีเคยเขียนภาพคล้ายคลึงกันเมื่อราว ค.ศ. 1290 ชื่อ “อิสอัคให้พรยาโคบ” ที่คอนแวนต์โบสถ์ซานตาเซซิเลีย ใน ทราสเทเวเร (Santa Cecilia in Trastevere) ที่ กรุงโรม การวางท่าของไอแซ็คในภาพคล้ายการวางท่าของพระแม่มารีในงานโมเสก “ประสูติกาลของพระแม่พรหมจารี” (Birth of the Virgin) ภายในมุขของวัดซานตามาเรีย ใน ทราสเทเวเร (Santa Maria in Trastevere) ที่ กรุงโรมซึ่งเขียนโดยคาวาลลินี ไอแซค มาสเตอร์ถือกันว่าเป็นศิลปินคนแรกที่ใช้วิธีสร้างจิตรกรรมฝาผนังแบบที่เรียกว่า ภาพวาดปูนเปียก หรือ เฟรสโก้ “buon fresco

ตำนานนักบุญฟรานซิส

[แก้]

งานจิตรกรรมฝาผนังที่สำคัญที่สุดของมหาวิหารคือภาพชุด 28 ภาพที่เป็นประวัตินักบุญฟรานซิส หรือที่รู้จักกันว่า “ตำนานนักบุญฟรานซิส” ซึ่งเชื่อกันว่าวาดโดยจอตโตทางตอนล่างของผนังของทางเดินกลาง แต่ละช่วงเป็นภาพสามภาพเหนือส่วนล่างที่สุดของผนัง และอีกสี่ภาพใกล้ทางเข้า จอตโตใช้ “Legenda Maior” ซึ่งเป็นประวัติของนักบุญฟรานซิสที่เขียนโดยนักบุญโบนาเวนตูรา ที่เขียนเมื่อปี ค.ศ. 1266 เป็นแนวในการสร้างฉากสำคัญๆ ในชีวิตของนักบุญ ฉากชุดนี้อาจจะเป็นฉากเดียวกับที่คาวาลลินีใช้เขียนภายในวัดซานฟรานเชสโก อา ริปา (San Francesco a Ripa) ที่โรม ภาพที่จอตโตเขียนดูราวกับว่าจอตโตเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับนักบุญฟรานซิสด้วยตนเอง วาซาริสันนิษฐานว่าจอตโตเขียนระหว่างปี ค.ศ. 1296 ถึงปี ค.ศ. 1304

ถึงแม้ว่าจะสันนิษฐานกันว่าจอตโตเป็นผู้วาดตำนานของนักบุญฟรานซิส แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าใครเป็นผู้วาดจริง นักวิจารณ์ชาวอิตาลีส่วนใหญ่เชื่อกันว่า จอตโตและเวิร์คช็อพคือผู้วาด แต่เพราะความแตกต่างของลักษณะการวาดเมื่อเปรียบเทียบกันกับไอแซค มาสเตอร์ก็มีน้อยมาก จึงเชื่อกันว่าบางภาพหรืออาจจะทุกภาพวาดโดยศิลปินอย่างน้อยสามชุด โดยใช้เรื่องที่จอตโตวางไว้ คือมาสเตอร์แห่งซานฟรานเชสโก และ มาสเตอร์แห่งโอบซีควีส์แห่งเซนต์ฟรานซิส และซิซิเลียมาสเตอร์

ช่วงแรกของเพดานตกแต่งด้วยรูป 4 รูปของ “นักปราชญ์แห่งคริสตจักร” คือนักบุญเจอโรม นักบุญออกัสติน นักบุญเกรกอรี และนักบุญแอมโบรส เชื่อกันว่าวาดโดยจอตโต หรือ ลูกศิษย์ ช่วงที่สามเป็นรูปหัวใจสี่รูปของพระเยซู พระแม่มารี นักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ และนักบุญฟรานซิส เขียนโดยจาโคโป ทอร์ริติ

ด้านหน้ามหาวิหารเป็นแบบกอธิคมีประตูสองประตูและหน้าต่างกุหลาบ

ดูเพิ่ม

[แก้]

ภาพมหาวิหาร

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
อ้างอิง
  1. Giorgio Vasari "Vite de'più eccellenti pittori, scultori e architetti"
  2. Pope Benedict XVI (9 November 2005). "Totius Orbis Of The Holy Father Benedict XVI for the Coordination of Pastoral Activities and Initiatives at the Basilicas of St Francis and of St Mary of the Angels in Assisi". Apostolic Letter "Motu Proprio". Holy See. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 July 2011. สืบค้นเมื่อ 16 August 2011.
บรรณานุกรม
  • Bellucci, Gualtiero (2001). Assisi, Heart of the World. Assisi: Edizioni Porziuncola. ISBN 88-7135-131-2.
  • Bonsanti, Giorgio (1998). The Basilica of St. Francis of Assisi. New York: H.N. Abrams. ISBN 0-8109-2767-5.
  • Belting, Hans (1977). Die Oberkirche Von San Francesco in Assisi: ihre Dekoration als Aufgabe u.d. Genese einen neuen Wandmalerei. Berlin: Mann. ISBN 3-7861-1135-9.
  • Borsook, Eve (1980). The Mural Painters of Tuscany: From Cimabue to Andrea del Sarto. Oxford: Clarendon Press. ISBN 0-19-817301-6.
  • Lunghi, Elvio (1996). The Basilica of St Francis at Assisi. The frescoes by Giotto his precursors and followers. London: Thames & Hudson. ISBN 0-500-27834-2.
  • Turner, J. (ed.) (1996). Grove Dictionary of Art. Macmillan Publishers Limited. ISBN 1-884446-00-0.
  • Vasari, Giorgio (1998). Vite. Oxford University Press. ISBN 0-19-283410-X.
  • Smart, Alastair (1971). The Assisi Problem and the Art of Giotto: a study of the Legend of St. Francis in the Upper Church of San Francesco, Assisi. Oxford: Clarendon Press. ISBN 0-19-817166-8.

Bokody, Péter. "Mural Painting as a Medium: Technique, Representation and Liturgy." In Image and Christianity: Visual Media in the Middle Ages, ed. Péter Bokody (Pannonhalma: Pannonhalma Abbey, 2014), 136–151. https://www.academia.edu/8526688/Mural_Painting_as_a_Medium_Technique_Representation_and_Liturgy

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]