Nothing Special   »   [go: up one dir, main page]

แบบสั้น: กฎเหล็ก 3 ประการ

  • เล่าข่าวด้วยสำนวนของตัวเอง
  • อ้างที่มาของข่าวทุกครั้ง
  • ตรวจสอบการสะกดคำอย่างละเอียด

คำแนะนำแบบยาว

แยกเนื้อหาเป็นหมวดๆ ได้ดังนี้

อะไรบ้างที่เป็น "ข่าว"

"ข่าว" ตามหลักการสื่อสารมวลชน จะต้องมีความ "แปลกใหม่" ในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น

  • เป็นเรื่องใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ ผู้บริหารใหม่ ทิศทางใหม่ขององค์กร
  • เป็นเรื่องที่แตกต่างไปจากการดำเนินธุรกิจปกติ เช่น ธุรกิจมีปัญหา ผู้บริหารลาออก ควบรวมกิจการ หุ้นตก หุ้นขึ้นสูง
  • เป็นมุมมอง วิสัยทัศน์ เช่น บทวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลง

ในการเขียน ผู้เขียนควรขับเน้นประเด็นด้วยว่าประเด็นของข่าวนั้นคืออะไร และมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก หลักการเขียนข่าว การผลิตข่าว และการรายงานข่าว ของกรมประชาสัมพันธ์ และ การเขียนข่าวเบื้องต้น ของคณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

อย่างไรก็ตาม Blognone รับบทความที่คิดขึ้นเองเช่นกัน โดยจะจัดอยู่ในหมวด In-Depth เพื่อระบุให้รู้ว่าเป็นบทความ (ลองดูบทความเก่าๆ ประกอบ)

Blognone ไม่รับบล็อกส่วนตัวทุกประเภท ส่วนข่าวประชาสัมพันธ์จะต้องโพสต์ในหมวด Press Release เท่านั้น

ต้นฉบับและลิขสิทธิ์ของเนื้อหา

  • การโพสต์ข่าวพร้อมกันหลายที่ จะต้องทำโดยผู้เขียนโดยตรงเท่านั้น หากต้องการลิงก์ไปยังเว็บที่โพสต์ครั้งแรก ให้ใส่ท้ายที่มาว่า "via" หรือ "โพสต์ครั้งแรก"
  • ที่มาต้องเป็นที่มาที่แท้จริงของตัวข่าว ห้ามอ้างอิงไปยังตัวโพสต์แรก การจงใจโพสต์ข่าวเพื่อทำ SEO จะถูกแบนสมาชิกภาพทันที
  • ข่าวที่เขียนบน Blognone จะถูกเผยแพร่ด้วยสัญญาอนุญาตแบบ Creative Commons Attribution 3.0 ทุกคนสามารถนำข่าวไปใช้โดยไม่ต้องขออนุญาตล่วงหน้า เพียงแค่ให้เครดิตเป็น username ใน Blognone พร้อมลิงก์มายังตัวข่าวใน Blognone

กระบวนการคัดเลือกเนื้อหาขึ้นหน้าแรก

  • สมาชิกทั่วไป และสมาชิกระดับ Contributor ข่าวจะปรากฏในหน้า Upcoming โดยรอตรวจสอบจากสมาชิกระดับที่สูงกว่านั้น ว่ามีคุณภาพของเนื้อหาอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้หรือไม่ ถ้ายังไม่ได้จะระบุจุดที่ต้องแก้ไขให้
  • สมาชิกระดับ Writer ขึ้นไป ที่เชื่อฝีมือกันแล้ว สามารถโพสต์ข่าวขึ้นหน้าแรกได้ทันที

สมาชิกที่โพสต์ข่าวอย่างน้อยหนึ่งครั้งจะถูกเลื่อนระดับเป็น Contributor ส่วนสมาชิกที่โพสต์ข่าวสม่ำเสมอ มีผลงานดี จะได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้นเป็น Writer โดยให้สมาชิกระดับ Writer อื่นๆ ให้การรับรอง

Syntax ในการเขียน

Blognone รองรับ syntax ในการเขียนข่าว 2 ชนิด คือ HTML และ Markdown โดยเราส่งเสริมให้เขียน Markdown เพราะ syntax เขียนง่ายกว่า ดูสะอาดตากว่า HTML มาก

วิธีการเขียน Markdown สามารถอ่านได้จาก

ในกรณีที่คิดว่าข่าวยาวเกินไป ควรตัดเฉพาะส่วนแรกของข่าวไว้แสดงในหน้าแรก แล้วให้ผู้อ่านคลิกเข้าไปดูข่าวเต็มๆ อีกครั้ง โดยใส่คำสั่ง <!--break--> ณ จุดที่ต้องการ (มีค่าเทียบเท่ากับการกดปุ่ม Split summary at cursor)

ถ้าข่าวนั้นมีลักษณะเป็นรายการข้อๆ (เช่น ฟีเจอร์ของซอฟต์แวร์) แนะนำให้ใส่ list เพื่อความง่ายในการอ่าน

สำนวนและเนื้อหาของข่าว

  • หัวข่าวเป็นภาษาไทย กระชับ สื่อใจความของเนื้อข่าว ไม่ควรยาวเกิน 1 บรรทัดยกเว้นย่อไม่ลงจริงๆ
  • ข่าวที่ดีไม่จำเป็นต้องยาว เขียนให้กระชับ ได้ประเด็น
  • ไม่แปลมาทั้งดุ้น ทำตัวเป็นผู้สื่อข่าว
  • เนื้อหาข่าวที่เขียนครบถ้วนพอที่ผู้อ่านจะเข้าใจสาระทั่วไปได้ โดยไม่ต้องกดลิงก์ตามไปอ่านต่อ เช่น ถ้ามีซอฟต์แวร์ออกใหม่ ก็ควรจะบอกรายละเอียดคร่าวๆ ว่ามีฟีเจอร์อะไรใหม่บ้าง
  • เราเชื่อมั่นในความไม่เป็นกลาง อย่าลังเลที่จะใส่ความคิดเห็นส่วนตัวถ้าเห็นสมควร อย่างไรก็ตาม คุณต้องทำใจรับไว้ด้วยว่าเราก็เปิดโอกาสให้ความคิดเห็นที่ตรงข้ามกับคุณเช่นเดียวกัน
  • ต้องใส่ที่มาของข่าวเสมอ โดยทำลิงก์ไปยังเว็บเพจที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่หน้าแรกของเว็บไซต์
  • นโยบายการเขียนตัวเลขในข่าว โดยเฉพาะหลัก billion ในภาษาอังกฤษ อ่าน ว่าด้วยเรื่องตัวเลขในข่าว

การใส่ Tag

ข่าวของ Blognone จะแยกแยะและจัดหมวดตามหัวข้อด้วย Tag โดยมีรูปแบบการใช้งานดังนี้

  • Tag เป็นภาษาอังกฤษเสมอ และขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่
  • คั่นแท็กแต่ละอันด้วยเครื่องหมาย comma เท่านั้น
  • ในขณะเขียนข่าวจะมี autocomplete ช่วยป้อน Tag เก่าให้ ให้ใช้ autocomplete ทุกครั้ง
  • ไม่ควรใส่ Tag มากเกินไป และไม่สแปม Tag

สำหรับตัวอย่างการใส่ Tag โดยทั่วไป ให้ดูตัวอย่างจากข่าวที่เขียนโดย Writer (คนที่มีป้าย W หลังชื่อ)

การใส่ภาพ

ภาพ thumbnail ของข่าวในหน้าแรก

  • ภาพ thumbnail ของข่าวจะถูกเลือกจาก Tag อันแรกที่ใส่อยู่แล้ว (ตอนแก้ข่าวต้องระวังเพราะ Tag จะเรียงตามตัวอักษร) ไม่ควรอัพโหลดภาพ thumbnail ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ
  • ในกรณีที่ต้องการโพสต์ภาพ thumbnail ที่เกี่ยวข้องกับข่าว ภาพที่เหมาะสมคือขนาด 100x100 พิกเซล ควรปรับภาพให้พอดีก่อนอัพโหลด ระบบจะย่อ-ขยายภาพให้ส่วนหนึ่งแต่ไม่รับประกันว่าจะออกมาดีเท่ากับเตรียมภาพมาเอง
  • ภาพที่อัพโหลดเป็น thumbnail ควรปรับขนาดไฟล์ไม่ให้ใหญ่เกินไป จะให้ดีควรทำเป็น PNG และกำหนดจำนวนสีให้พอเหมาะ

ภาพประกอบในเนื้อหาข่าว

  • ห้าม hotlink ภาพมาจากต้นฉบับเด็ดขาด
  • ภาพที่จะใช้ประกอบข่าวต้องไม่ขัดกับคู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม โดยเฉพาะในส่วนของการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมในการรายงานข่าว
  • ในกรณีที่เป็นภาพที่สร้างขึ้นเอง (เช่น screenshot) หรือภาพที่แจกสื่อมวลชน (press photo) ให้ปรับความละเอียดของภาพ ความกว้างไม่เกิน 640px
  • ในกรณีที่เป็นภาพมีลิขสิทธิ์ (เช่น ภาพจากเว็บไซต์ข่าวในต่างประเทศ) ควรลดขนาดของภาพไม่ให้ใหญ่เกินไปตามแนวทาง fair use และระบุที่มาของภาพพร้อมทำลิงก์ด้วย
  • ภาพทั้งหมดจะต้องฝากไว้ตามเว็บไซต์ฝากภาพต่างๆ เช่น Flickr, Picasa (ไม่ควรใช้เว็บไซต์ฝากภาพที่ห้ามแปะภาพไปยังเว็บภายนอก เช่น Twitpic)
  • ภาพประกอบข่าวทั้งหมดต้องอยู่หลังคำสั่ง <!--break--> เพื่อให้ไม่แสดงในหน้าแรก

การใส่วิดีโอ

  • ขนาดของวิดีโอที่เหมาะสมคือความกว้างไม่เกิน 640px (ขนาดมาตรฐานของ YouTube)
  • ฟอร์แมตของวิดีโอที่เหมาะสมคือ Flash Embed เพราะผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมดสามารถเปิดดูได้
  • ในกรณีที่วิดีโอเป็น Silverlight หรือ HTML5 <video> ควรใช้เฉพาะกรณีที่ไม่สามารถหาวิดีโอเป็น Flash ได้แล้วจริงๆ เท่านั้น เนื่องจากเบราว์เซอร์หรือระบบปฏิบัติการบางตัวไม่สามารถเล่นได้
  • กรณีของ HTML5 <video> ควรระวังเรื่อง codec ของตัววิดีโอที่เบราว์เซอร์รองรับไม่เหมือนกันด้วย (อ่านรายละเอียดได้จาก Wikipedia: HTML5 video ควรใช้ WebM/H.264 เป็นหลัก)
  • วิดีโอทั้งหมดต้องอยู่หลังคำสั่ง <!--break--> เพื่อให้ไม่แสดงในหน้าแรก

การสะกดคำและเครื่องหมายวรรคตอน

Blognone ส่งเสริมให้ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง โดยมีหลักปฏิบัติดังนี้

  • ไม่ใช้ภาษาวัยรุ่น ภาษาวิบัติ ภาษาเฉพาะกลุ่มบนอินเทอร์เน็ต พยายามใช้ภาษาไทยกลางทั่วไป ที่คนสามัญจะเข้าใจได้
  • อย่าสะกดคำตามความถนัดของตัวเอง อย่ายึดตัวเองเป็นที่ตั้ง เรามีวิธีสะกดคำที่ตกลงกันไว้อยู่ใน Glossary
  • ต้องมีความสม่ำเสมอ (consistency) สะกดชื่อคำใดไปแล้ว ต้องเขียนให้เหมือนกันทุกครั้ง
  • คำศัพท์ภาษาอังกฤษ ถ้าไม่ใช่ชื่อเฉพาะ ต้องไม่ขึ้นต้นด้วยตัวใหญ่ เช่น download ไม่ใช่ Download

คำที่มักสะกดผิด

  • ลิงก์ - ใช้ ก
  • อีเมล - ไม่มีการันต์
  • ซอฟต์แวร์ - ใช้ ต
  • ไมโครซอฟท์ - ใช้ ท
  • อินเทอร์เน็ต - ใช้ ท
  • เว็บ - มีไม้ไต่คู้ และใช้ บ ไม่ใช่ ป
  • เบราว์เซอร์ - มี ว การันต์
  • โอเพนซอร์ส - ไม่มีไม้เอก
  • แอปเปิล, กูเกิล - ไม่มีไม้โท

ดูรายชื่อคำทั้งหมดจากหน้า Glossary

การเขียนเครื่องหมายวรรคตอน

ระหว่างคำภาษาไทยกับคำภาษาอังกฤษ เว้น 1 ช่องว่าง

ซิสโก้เตรียมเปิด API ให้นักพัฒนา

ระหว่างคำกับตัวเลข เว้น 1 ช่องว่าง (ยกเว้นตัวเลขนั้นตามด้วยตัวย่อของหน่วย เช่น 1GB เท่านั้น)

โดยบริษัทขาดทุนถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์

ไม้ยมก หลังไม้ยมก เว้นช่องว่าง 1 ส่วนก่อนหน้าไม้ยมก จะเว้นหรือไม่เว้นก็ได้

มาจริงๆ แต่อย่างใด

คอมม่า หลังคอมม่า เว้นช่องว่าง

Xbox 360, PS3, Wii

วงเล็บ นอกวงเล็บ ใส่ช่องว่างหน้าหลัง ข้างในวงเล็บไม่ต้องใส่ช่องว่าง

แต่ในช่วงหลัง (เวอร์ชัน 3.0) ทางบริษัท

อัญประกาศ/เครื่องหมายคำพูด ข้างนอกเว้นหน้าหลัง ข้างในไม่ต้องใส่ช่องว่าง (แบบเดียวกับวงเล็บ)

เครื่องหมายคำพูด "ก็แบบเดียวกัน" กับวงเล็บ

เครื่องหมายตกใจ/colon ชิดด้านหน้า เว้นวรรคด้านหลัง

Honeycomb: แอนดรอยด์รุ่นใหม่

Get latest news from Blognone