Nothing Special   »   [go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

ไตรลักษณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไตรลักษณ์ เป็นธรรมะที่ทำให้เป็นพระอ

บทวิเคราะห์ศัพท์

[แก้]

ไตรลักษณ์ แปลว่า "ลักษณะ 3 อย่าง" หมายถึงสามัญลักษณะ หรือลักษณะที่เสมอกัน หรือข้อกำหนด หรือสิ่งที่มีประจำอยู่ในตัวของสังขารทั้งปวงเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ 3 อย่าง ได้แก่

  1. อนิจจตา (อนิจจลักษณะ) - อาการไม่เที่ยง อาการไม่คงที่ อาการไม่ยั่งยืน อาการที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป อาการที่แสดงถึงความเป็นสิ่งไม่เที่ยงของขันธ์
  2. ทุกขตา (ทุกขลักษณะ) - อาการเป็นทุกข์ อาการที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว อาการที่กดดัน อาการฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ อาการที่ไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่องอยู่ในตัว อาการที่แสดงถึงความเป็นทุกข์ของขันธ์
  3. อนัตตา (อนัตตลักษณะ) - อาการของอนัตตา อาการของสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน อาการที่ไม่มีตัวตน อาการที่แสดงถึงความไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของใคร อาการที่แสดงถึงไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง อาการที่แสดงถึงความไม่มีอำนาจแท้จริงในตัวเลย อาการที่แสดงถึงความด้อยสมรรถภาพโดยสิ้นเชิง ไม่มีอำนาจกำลังอะไร ต้องอาศัยพึ่งพิงสิ่งอื่น ๆ มากมายจึงมีขึ้นได้

ลักษณะ 3 อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญญลักษณะ คือ ลักษณะที่มีเสมอกันแก่สังขารทั้งปวง และเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมนิยาม คือกฎธรรมดา หรือข้อกำหนดที่แน่นอนของสังขาร

คำว่า ไตรลักษณ์ นี้มาจากภาษาบาลีว่า "ติลกฺขณ" มีการวิเคราะห์ศัพท์ดังต่อไปนี้

ติ แปลว่า สาม, 3

ลกฺขณ แปลว่า เครื่องทำสัญลักษณ์, เครื่องกำหนด, เครื่องบันทึก, เครื่องทำจุดสังเกต, ตราประทับ เปรียบได้กับภาษาอังกฤษในคำว่า Marker

ติลกฺขณ จึงแปลว่า "เครื่องกำหนด 3 อย่าง" ในแง่ของความหมายแล้ว ตามคัมภีร์จะพบได้ว่า มีธรรมะที่อาจหมายถึง ติลกฺขณ อย่างน้อย 2 อย่าง คือ สามัญญลักษณะ 3 และ สังขตลักษณะ 3 ในคัมภีร์ชั้นฎีกา พบว่ามีการอธิบายเพื่อแยกลักษณะทั้ง 3 แบบนี้ออกจากกันอยู่ด้วย[1] ส่วนในที่นี้ก็คงหมายถึงสามัญญลักษณะตามศัพท์ว่า ติลกฺขณ นั่นเอง

อนึ่ง นักอภิธรรมชาวไทยนิยมเรียกคำว่า สังขตลักษณะ โดยใช้คำว่า "อนุขณะ 3" คำนี้มีที่มาไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากยังไม่พบในอรรถกถาและฎีกาของพระพุทธโฆสาจารย์และพระธรรมปาลาจารย์ และที่พบใช้ก็เป็นความหมายอื่น[2] อาจเป็นศัพท์ใหม่ที่นำมาใช้เพื่อให้สะดวกต่อการศึกษาก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม โดยความหมายแล้วคำว่าอนุขณะนั้นก็ไม่ได้ขัดแย้งกับคัมภีร์รุ่นเก่าแต่อย่างใด

สามัญลักษณะ

[แก้]

สามัญญลักษณะ 3 หมายถึง เครื่องกำหนดที่มีอยู่ทั่วไปในสังขารทั้งหมด ได้แก่ อนิจจลักษณะ - เครื่องกำหนดความไม่เที่ยงแท้, ทุกขลักษณะ - เครื่องกำหนดความบีบคั้น, อนัตตลักษณะ - เครื่องกำหนดความไม่ใช่ตัวตน

สามัญญลักษณะ ยังมีชื่อเรียกอีกว่า ธรรมนิยาม คือ กฎแห่งธรรม หรือ ข้อกำหนดที่แน่นอนของสังขาร

อนึ่ง ควรทราบว่า อนิจฺจํ กับ อนิจฺจตา เป็นต้น เป็นศัพท์ที่ใช้คนละความหมายกัน

อนิจจะ กับ อนิจจลักษณะ ไม่เหมือนกัน

[แก้]

ตามคัมภีร์ฝ่ายศาสนา ท่านให้ความหมายของขันธ์ กับ ไตรลักษณ์ไว้คู่กัน เพราะเป็น ลักขณวันตะ และ ลักขณะ ของกันและกัน[3][4][5][6][7] ดังนี้

อนิจจลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 เป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน ซึ่งได้แก่ อาการความเปลี่ยนแปลงไปของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 เคยเกิดขึ้นแล้วเสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่, อาการที่ขันธ์ 5 เคยมีขึ้นแล้วก็ไม่มีอีกครั้ง เป็นต้น

ในวิสุทธิมรรค ท่านได้ยกอนิจจลักษณะจากปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ถึง 25 แบบ เรียกว่า โต 25 และในพระไตรปิฎกยังมีการแสดงอนิจจลักษณะไว้ในแบบอื่น ๆ อีกมากมาย แต่คัมภีร์ที่รวบรวมไว้เป็นเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติธรรมได้แก่ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพราะสามารถจะจำคำที่คนโบราณใช้กำหนดกันจากคัมภีร์นี้แล้วนำไปใช้ได้ทันที ดังที่ท่านแสดงไว้เป็นต้นว่า "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะอาการที่เปลี่ยนไป จะเป็นการกำหนดอนิจจลักษณะ)

ทุกข์ กับ ทุกขลักษณะ ไม่เหมือนกัน

[แก้]

ทุกขลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 เป็นทุกข์ บีบคั้น น่ากลัวมาก ซึ่งได้แก่ อาการความบีบคั้นบังคับให้เปลี่ยนแปลงไปอยู่เป็นเนืองนิจของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 บีบบังคับตนจากที่เคยเกิดขึ้น ก็ต้องเสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่, อาการที่ขันธ์ 5 จากที่เคยมีขึ้น ก็ต้องกลับไปเป็นไม่มีอีกครั้ง เป็นต้น

ในวิสุทธิมรรค ท่านได้ยกทุกขลักษณะจากปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ถึง 10 แบบ เรียกว่า โต 10 และในพระไตรปิฎกยังมีการแสดงทุกขลักษณะไว้ในแบบอื่น ๆ อีกมากมาย แต่คัมภีร์ที่รวบรวมไว้เป็นเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติธรรมได้แก่ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพราะสามารถจะจำคำที่คนโบราณใช้กำหนดกันจากคัมภีร์นี้แล้วนำไปใช้ได้ทันที ดังที่ท่านแสดงไว้เป็นต้นว่า "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะที่บีบบังคับตัวเองให้ต้องเปลี่ยนไป ก็จะกลายเป็นการกำหนดทุกขลักษณะ)

อนัตตา กับ อนัตตลักษณะ ไม่เหมือนกัน

[แก้]

อนัตตา กับ อนัตตลักษณะ เป็นคนละอย่างกัน เพราะเป็น ลักขณวันตะ และ ลักขณะ ของกันและกัน

อนัตตลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวตน ไร้อำนาจ ไม่มีเนื้อแท้แต่อย่างใด ได้แก่ อาการที่ไร้อำนาจบังคับตัวเองให้ไม่เปลี่ยนแปลงไปของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 บังคับตนไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ให้เสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่ไม่ได้, อาการที่ขันธ์ 5 บังคับตนไม่ให้มีขึ้นไม่ได้ ไม่ให้กลับไปไม่มีอีกครั้งไม่ได้ (บังคับให้ไม่หมดไปไม่ได้) เป็นต้น

ในวิสุทธิมรรค ท่านได้ยกอนัตตลักษณะจากปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ 5 แบบ เรียกว่า โต 5 และในพระไตรปิฎกยังมีการแสดงอนัตตลักษณะไว้ในแบบอื่น ๆ อีกมากมาย แต่คัมภีร์ที่รวบรวมไว้เป็นเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติธรรมได้แก่ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพราะสามารถจะจำคำที่คนโบราณใช้กำหนดกันจากคัมภีร์นี้แล้วนำไปใช้ได้ทันที ดังที่ท่านแสดงไว้เป็นต้นว่า "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะที่ไร้อำนาจบังคับตัวเองให้ไม่เปลี่ยนไปไม่ได้ ก็จะกลายเป็นการกำหนดอนัตตลักษณะ)

หลักการกำหนดไตรลักษณ์

[แก้]

ไตรลักษณ์แบบสามัญญลักษณะ นี้ ไม่ได้แสดงตัวของมันเองอยู่ตลอดทุกเวลา เพราะเมื่อใดที่จิตไม่ได้เข้าไปคิดถึงขันธ์ 5 เทียบเคียง สังเกต ไตร่ตรอง ให้รอบคอบ ตามแบบที่ท่านวางไว้ให้ในพระไตรปิฎก เช่น "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก" เป็นต้น ไตรลักษณ์ก็จะไม่ปรากฏตัวขึ้น. โดยเฉพาะอนัตตลักษณะที่ทั้งในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ระบุไว้ในหลายแห่งว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถทำความเข้าใจเองแล้วเอามาบอกสอนให้คนอื่นเข้าใจตามได้.

สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์แบบสามัญญลักษณะ

[แก้]

อย่างไรก็ตาม แม้จะพิจารณาใคร่ครวญตามพระพุทธพจน์ แต่ไตรลักษณ์ก็อาจจะยังไม่ชัดเจนได้เหมือนกัน ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะนิวรณ์อกุศลธรรมต่าง ๆ เกิดกลุ้มรุม รุมเร้า, และอาจเป็นเพราะยังพิจารณาไม่มากพอ จึงไม่มีความชำนาญ เหมือนเด็กเพิ่งท่องสูตรคูณยังไม่แม่นนั่นเอง และนอกจากนี้ ในคัมภีร์ท่านยังแสดงถึงสิ่งที่ทำให้พิจารณาไตรลักษณ์ได้ไม่ชัดเจนไว้อีก 3 อย่าง คือ สันตติ อิริยาบถ และฆนะ [6][7][8][9][10]

1. อนิจจัง (ความไม่แน่นอน) ทำให้สิ่งทั้งปวงย่อมต้องเปลี่ยนแปลงสถานะเดิม อย่างธาตุดิน เปลี่ยนเป็นธาตุน้ำ เปลี่ยนเป็นธาตุลม และเปลี่ยนเป็นธาตุไฟ และเปลี่ยนกลับไปกลับมาไม่สิ้นสุด ตามอุตุนิยามหรืออุณหภูมิร้อนเย็น แม้จะเปลี่ยนแปลงแต่การเปลี่ยนแปลงก็มีขีดจำกัด ทำให้เกิดการกลับไปเริ่มต้นใหม่ ทำให้เกิดกฎแห่งวัฏจักร กฎแห่งวัฏฏตา กฎแห่งการหมุนเวียนเปลี่ยนผัน เมื่อเริ่มต้นถึงที่สุดก็กลับมาตั้งต้นใหม่ แม้กระนั้นกฎแห่งอนิจจังก็คือความไม่แน่นอน แม้หมุนวนเวียนแต่ก็ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงจากเดิมอยู่บ้าง ทำให้ทายาทไม่จำเป็นต้องเหมือนผู้ให้กำเนิดไปซะทั้งหมด กฎแห่งวัฏฏตาทำให้เกิดกฎแห่งสันตติคือการสืบต่อที่ปิดบังอนิจจังต่อไป

2. ทุกขัง (ความไม่เที่ยงแท้ ทนอยู่ในสภาพเดิมมิได้ตลอดกาล) คือ สิ่งทั้งปวงหยุดนิ่งมิได้เหมือนจะต้องเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา อย่าง ลมต้องพัด เปลือกโลกต้องเคลื่อน โลกต้องหมุน ทุกอย่างจะอยู่นิ่งมิได้ มีแค่เคลื่อนมากหรือเคลื่อนน้อย จึงทำให้เกิดกฎแห่งการปรับสมดุล (สมตา) คือแม้จะมีการเคลื่อนตลอดเวลา แต่การเคลื่อนนั้นก็ทำให้มีการปรับสมดุล เช่น อากาศระเหยขึ้นไปเพราะความร้อนเกิดเป็นสูญญากาศ อากาศด้านข้างจึงไหลเข้ามาทำให้เกิดลม เมฆบนฟ้าเกิดประจุไฟฟ้าเป็นจำนวนมากจึงต้องปรับสมดุลด้วยการถ่ายเทมายังพื้นโลกจึงเกิดฟ้าผ่าขึ้น เป็นต้น การปรับสมดุลจึงทำให้บางสิ่งคงอยู่ไม่แตกสลายเร็วนัก เเละสิ่งคงอยู่ย่อมแตกสลายไปตามกฎแห่งอนิจจัง แต่ถ้ามีการถ่ายทอดข้อมูลจากสิ่งเก่าไปสู่สิ่งใหม่ เช่น ดวงจิตที่ถ่ายทอดข้อมูลจากดวงจิตเดิมสู่ดวงจิตก่อนจิตดวงเดิมดับ เป็นต้น ย่อมทำให้ดำรงอยู่ต่อได้ จึงทำให้เกิดกฎแห่งสันตติการสืบต่อ และทำให้เกิดกฎแห่งพันธุกรรมของพีชนิยาม แม้แต่การซ่อมแซมตัวเองของร่างกายก็เกิดขึ้นจากกฎสมตานี้ ซึ่งให้เกิดชีวิตที่ต้องปรับสมดุลตัวเองตามกฎสมตา เวลาหิวหากิน เวลาง่วงนอน เวลาเหนื่อยพัก เวลาปวดอุจจาระปัสสาวะก็ถ่าย เวลาเมื่อยก็เคลื่อนไหว ทำให้เกิดอิริยาบถ ที่ปิดบังทุกขังนั่นเอง

3. อนัตตา (สิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตนอย่างแท้จริง) สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นจากกฎอิทัปปัจจยตา ดูเหมือนมีตัวตนเพราะอาศัยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ประกอบกันขึ้น และสิ่งทั้งปวงย่อมเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการผสมผสาน ทำให้เกิดความหลากหลายยิ่งขึ้น เพิ่มขึ้นซับซ้อนขึ้น เมื่อสิ่งต่าง ๆ มีผลกระทบต่อกันในด้านต่าง ๆ จนทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันและอาศัยกันและกันเพื่อดำรงอยู่ จึงเกิดกระบวนการทำงานหรือกฎชีวิตาขึ้นจึงเกิดฆนะสัญญาหรือความเป็นก้อนขึ้นทำให้เกิดความรู้สึกถึงการมีตัวตนขึ้น แม้กระทั่งกระบวนการทำงานของจิต ก็ทำให้รู้สึกถึงการมีตัวตนทางใจเช่นกัน ดังนั้นกฎชีวิตาจึงทำให้เกิดฆนะ รูปร่าง หรือการเป็นก้อน ๆ ตลอดจนรู้สึกมีตัวตน ที่ปิดบังอนัตตาในที่สุด

ตามหลักอภิธรรมกฎแห่งธรรมนิยามทั้งคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำให้เกิดกฎแห่งพีชนิยามทั้ง3คือสมตา(ปรับสมดุล) วัฏฏตา(หมุนวนเวียน)ชีวิตา(มีหน้าที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน) ตามนัยดังกล่าว

สันตติปิดบังอนิจจลักษณะ

[แก้]

สันตติ คือ การสืบต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสายของขันธ์ 5 โดยสืบต่อเนื่องจากจิตดวงหนึ่งที่ดับไป จิตดวงใหม่ก็เกิดขึ้นต่อกันในทันที หรือรูป ๆ หนึ่งดับไป รูปใหม่ ๆ ก็เกิดต่อกันไปในทันที หรือบางที รูปเก่ายังไม่ดับ รูปใหม่ก็เกิดขึ้นมาสำทับกันเข้าไปอีก สันตติเป็นกฎธรรมชาติ เป็นนิยาม ห้ามไม่ได้ เว้นแต่จะดับขันธปรินิพพานแล้วเท่านั้น สันตติจึงจะไม่เป็นไป แม้ในอสัญญสัตตภพ และผู้เข้านิโรธสมาบัติท่านก็ยังจัดว่ามีสันตติของจิตอยู่นั่นเอง

สันตติที่เกิดขึ้นสืบต่อกันไปอย่างรวดเร็วไม่ขาดสายนี้ จะทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า ขันธ์ 5 ไม่เกิดไม่ดับ ทั้งที่ความจริงแล้วเกิดดับต่อกันวินาทีละนับครั้งไม่ได้ ในคัมภีร์ท่านจึงกล่าวว่า "สันตติปิดบังอนิจจลักษณะ" เพราะอนิจจลักษณะเป็นเครื่องกำหนดความไม่สืบต่อของขันธ์ 5 ที่มีขอบเขตของเวลาในการดำรงอยู่จำกัดมาก ซึ่งตรงกันข้ามกับสันตติที่ต่อกันจนดูราวกับว่าไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย การที่ยังพิจารณาอนิจจลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก" เป็นต้น ไม่บ่อย ไม่ต่อเนื่อง หรือเพิ่งเริ่มกำหนด จึงยังไม่เกิดความชำนาญ อนิจจลักษณะที่กำหนดอยู่ก็จะไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจกระจ่างเท่าไร สันตติจึงยังมีอำนาจรบกวนไม่ให้กำหนดอนิจจลักษณะได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง

สำหรับวิธีการจัดการกับสันตติไม่ให้มีผลกับการกำหนดอนิจจลักษณะนั้น ไม่มีวิธีจัดการกับสันตติโดยตรง เพราะสันตติเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาของขันธ์ ไปห้ามกันไม่ได้ แต่ท่านก็ยังคงให้พิจารณาอนิจจลักษณะแบบเดิมเป็นต้นว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก" ดังนี้ ต่อไป โดยทำให้มาก ให้ต่อเนื่อง ให้บ่อยครั้งเข้า อนิจจลักษณะก็จะปรากฏชัดขึ้น และสันตติแม้จะยังมีอยู่ตามเดิม แต่ก็จะไม่มีอำนาจปกปิดอนิจจลักษณะ หรือทำให้อนิจจลักษณะไม่ชัดเจนอีกต่อไป

อนึ่ง สันตติไม่ได้ปิดบังอนิจจัง เพราะอนิจจัง ก็คือ ขันธ์ 5 ซึ่งขันธ์ 5 ที่เป็นโลกิยะโดยมากแล้วใคร ๆ แม้ที่ไม่ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถจะเห็นได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรว่า "กามํ อุตฺตานเสยฺยกาปิ ทารกา ถญฺญปิวนาทิกาเล สุขํ เวทยมานา สุขํ เวทนํ เวทยามาติ ปชานนฺติ น ปเนตํ เอวรูปํ ชานนํ สนฺธาย วุตฺตํ - ความจริงแล้ว แม้แต่พวกทารกแบเบาะมีความสุขอยู่ในเวลาขณะที่ดื่มนม ก็ย่อมรู้ชัดอยู่ว่า เรามีสุขเวทนา (คือ รู้ตัวว่ากำลังมีความสุข) อยู่ ดังนี้ แต่การรู้อย่างนี้ท่านไม่ได้ประสงค์เอา (ในการเจริญสติปัฏฐาน) "ดังนี้[11]. ดังนั้นแม้เราจะดูทีวีซึ่งมีการขยับเขยื้อน มีสีเปลี่ยนไปมาอยู่มากมายก็ตาม แต่หากไม่มนสิการถึงอนิจจลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก" เป็นต้น เราก็จะไม่เห็นสามารถอนิจจลักษณะได้เลย และความจริงหากยังดูทีวีอยู่ ก็คงจะพิจารณาไตรลักษณ์ได้ไม่ดี หรือไม่ได้เลยด้วย เพราะอกุศลจิตนั่นเองจะเป็นตัวขัดขวางการพิจารณา ใคร่ครวญ ค้นคิดธรรมะ

อิริยาบถปิดบังทุกขลักษณะ

[แก้]

อิริยาบถ คือ รูปแบบกิริยาการกระทำต่าง ๆ เช่น การยืน การเดิน การนั่ง การนอน การแล การเหลียว เป็นต้น การเปลี่ยนอิริยาบถนั้นบางครั้งก็อาจทำเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด แต่โดยมากแล้ว เราเปลี่ยนเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยที่ยังไม่ต้องเกิดความทุกข์ความเจ็บปวดขึ้นมาก่อนก็ได้ เช่น นั่งสมาธิ เดินจงกรม เป็นต้น อิริยาบถเป็นการเปลี่ยนแปลงของรูปคล้ายกับวิญญัตติรูป ดังนั้น ท่านจึงระบุไว้ในตอนท้ายของอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรและฎีกาว่า "ไม่พึงพิจารณาตั้งแต่เพิ่งเริ่มต้นกำหนด" ส่วนเหตุผลท่านก็ให้ไว้เหมือนกับอสัมมสนรูป นั่นคือ เพราะเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงของรูป ไม่ใช่สภาวธรรมโดยตรง จึงไม่ควรกำหนดนั่นเอง

อิริยาบถที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดทั้งวันนี้ จะทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า ขันธ์ 5 ไม่ได้บีบคั้นบังคับตัวเองให้ต้องเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ทั้งที่ความจริงแล้ว แม้ขณะที่เราเปลี่ยนอิริยาบถอยู่โดยไม่ได้เป็นเพราะความเจ็บปวด เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิ เป็นต้น ตอนนั้นขันธ์ 5 ก็ล้วนบีบคั้นบังคับตนเองให้ต้องเปลี่ยนแปลงแตกดับเสื่อมสลายไปเป็นปกติทั้งสิ้น ในคัมภีร์ท่านจึงกล่าวไว้ว่า "อิริยาบถปิดบังทุกขลักษณะ" เพราะทุกขลักษณะเป็นเครื่องกำหนดความบีบคั้นให้เปลี่ยนไปของขันธ์ 5 ที่ล้วนบีบคั้นบังคับตัวเองอยู่เป็นนิจ ซึ่งตรงกันข้ามกับอิริยาบถที่เมื่อเปลี่ยนแล้ว ก็ทำให้สุขต่อกันไปจนไม่รู้ตัวเลยว่า ขันธ์ 5 กำลังบีบคั้นขันธ์เองวินาทีละนับครั้งไม่ได้ การที่ยังพิจารณาทุกขลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก" เป็นต้น (โดยมุ่งถึงความเบียดเบียนบีบคั้น) ไม่บ่อย ไม่ต่อเนื่อง หรือเพิ่งเริ่มกำหนด จึงยังไม่เกิดความชำนาญ ทุกขลักษณะที่กำหนดอยู่ก็จะไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจกระจ่างเท่าไหร่อิริยาบถจึงยังมีอำนาจรบกวนไม่ให้กำหนดทุกขลักษณะได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง

สำหรับวิธีการจัดการกับอิริยาบถไม่ให้มีผลกับการกำหนดทุกขลักษณะนั้นไม่มีวิธีการโดยตรง เพราะถ้าไม่เปลี่ยนอิริยาบถ หรือ อิริยาบถไม่สม่ำเสมอก็อาจป่วยได้ ซึ่งจะกลายเป็นการซ้ำร้ายลงไปอีก ทั้งยังจะทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ทำให้อยู่ร่วมกับสังคมไม่ได้ไม่ว่าจะสังคมชาวบ้าน หรือสังคมพระภิกษุก็อยู่ไม่ได้เหมือน ๆ กัน แต่ท่านก็ยังคงให้พิจารณาทุกขลักษณะแบบเดิมเป็นต้นว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"ดังนี้ โดยมุ่งถึงความเบียดเบียนบีบคั้น ต่อไป โดยทำให้มาก ให้ต่อเนื่อง ให้บ่อยครั้งเข้า ทุกขลักษณะก็จะปรากฏชัดขึ้น และอิริยาบถแม้จะยังมีอยู่ตามเดิม แต่ก็จะไม่มีอำนาจปกปิดทุกขลักษณะ หรือทำให้ทุกขลักษณะไม่ชัดเจนอีกต่อไป

อนึ่ง อิริยาบถไม่ได้ปิดบังปิดบังทุกขัง เพราะทุกขัง คือ ขันธ์ 5 ซึ่งขันธ์ 5 ที่เป็นโลกิยะ โดยมากแล้วใคร ๆ แม้ที่ไม่ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถจะเห็นได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรว่า "กามํ อุตฺตานเสยฺยกาปิ ทารกา ถญฺญปิวนาทิกาเล สุขํ เวทยมานา สุขํ เวทนํ เวทยามาติ ปชานนฺติ น ปเนตํ เอวรูปํ ชานนํ สนฺธาย วุตฺตํ - ความจริงแล้ว แม้แต่พวกทารกแบเบาะมีความสุขอยู่ในเวลาขณะที่ดื่มนม ก็ย่อมรู้ชัดอยู่ว่า เรามีสุขเวทนา (คือ รู้ตัวว่ากำลังมีความสุข) อยู่ ดังนี้ แต่การรู้อย่างนี้ท่านไม่ได้ประสงค์เอา (ในการเจริญสติปัฏฐาน) " ดังนี้[11]. ดังนั้นไม่ว่าเราจะขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถหรือจะไม่กระดุกกระดิกเปลี่ยนอิริยาบถใด ๆ เลยก็ตาม แต่หากไม่มนสิการถึงทุกขลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (โดยมุ่งถึงความเบียดเบียนบีบคั้น) เราก็จะไม่สามารถเห็นทุกขลักษณะได้เลย ฉะนั้นในวิสุทธิมรรคฎีกาท่านจึงกล่าวไว้ว่า "อิริยาบถเหมือนปิดบังทุกข์"เท่านั้น ไม่กล่าวว่า "อิริยาบถปิดบังทุกข์" เพราะอิริยาบถทำให้สุขเวทนาเกิดต่อเนื่องจึงไม่ได้รับทุกขเวทนาเท่านั้น แต่อิริยาบถไม่ได้ปิดบังทุกข์คือขันธ์ 5 แต่อย่างใด ส่วนสิ่งที่ปิดบังทุกข์ คือ ขันธ์ 5 นั้นก็คือ อวิชชานั่นเอง

ฆนะปิดบังอนัตตลักษณะ

[แก้]

ฆนะ คือ สิ่งที่เนื่องกันอยู่ ท่านได้แบ่งฆนะ ออกเป็น 4 อย่าง คือ สันตติฆนะ สมูหฆนะ กิจจฆนะ อารัมมณฆนะ[12]

  • สันตติฆนะ คือ ขันธ์ 5 ที่เกิดดับสืบเนื่องกันไปไม่ขาดสาย ซึ่งเร็วจนดูเหมือนกับว่า ขันธ์ 5 ไม่มีอะไรเกิดดับ
  • สมูหฆนะ คือ ขันธ์ 5 ที่เกิดร่วมกันสัมพันธ์อาศัยซึ่งกันและกัน จนดูราวกะว่า ขันธ์ทั้ง 5 เป็นกลุ่มก้อน เป็นหนึ่งเดียวกัน
  • กิจจฆนะ คือ ขันธ์ 5 ที่มีกิจหน้าที่มากหลายรับรู้เข้าใจได้ง่ายและยากโดดเด่นแตกต่างกันไป ซึ่งหากไม่มีปัญญาก็อาจดูเหมือนกับว่า ขันธ์ 5 มีกิจอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงกิจเดียว
  • อารัมมณฆนะ คือ ขันธ์ 4 ที่รับรู้อารมณ์มากมายหลากหลายใหม่ ๆ ไปเรื่อย แต่หากเราเองไม่มีความรู้พอที่จะสังเกต จะไม่ทราบเลยว่า จิตใจของเราแบ่งออกตามการรู้อารมณ์ได้มากทีเดียว[13][14]

การเนื่องกันเหล่านี้จะมีหรือไม่มี ขึ้นอยู่กับปัจจัยของธรรมที่ร่วมกันเกิดอยู่นั้น เป็นกฎธรรมชาติ เป็นธรรมดา หากเหตุพร้อมมูลก็ไม่มีใครไปห้ามไม่ให้ผลเกิดได้เลย

ฆนะทั้งหมด โดยเฉพาะ 3 อย่างหลังที่เนื่องกันติดกันอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ จะทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า ขันธ์ 5 บังคับบัญชาตัวเองได้ ไม่ต้องอาศัยปัจจัยอะไรเลย ราวกะมีตัวตนแก่นสาร ทั้งที่ความจริงแล้ว ขันธ์ไม่เคยอยู่เดี่ยว ๆ เลย มีแต่จะต้องแวดล้อมไปด้วยปัจจัยและปัจจยุปบันที่ทั้งเกิดก่อน เกิดหลัง และเกิดร่วมมากมายจนนับไม่ถ้วน (ถ้านับละเอียด) ในคัมภีร์ท่านจึงกล่าวไว้ว่า "ฆนะปิดบังอนิจจลักษณะ" เพราะอนิจจลักษณะเป็นเครื่องกำหนดความไม่มีตัวตนอำนาจที่เป็นแก่นสารมั่นคงของขันธ์ 5 ซึ่งตรงกันข้ามกับฆนะที่เนื่องกันจนทำให้เข้าใจผิดไปว่า ขันธ์เป็นหนึ่ง มีเหตุคือเรา คือเขาเพียงหนึ่งที่เป็นตัวตนมั่นคงบังคับสิ่งต่าง ๆ ได้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น และขณะนั้นเองมีเหตุให้เกิดขันธ์เหล่านั้นเกิดอยู่มากมาย หลังจากนั้นโดยทั่วไปก็ยังมีผลที่จะเกิดสืบต่อไปอีกมากมาย การที่ยังพิจารณาอนัตตลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก" เป็นต้น (โดยมุ่งถึงความไม่มีอำนาจส่วนตัว เป็นไปตามหมู่ปัจจัยเป็นอเนกอนันต์) ไม่บ่อย ไม่ต่อเนื่อง หรือเพิ่งเริ่มกำหนด จึงยังไม่เกิดความชำนาญ อนัตตลักษณะที่กำหนดอยู่ก็จะไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจกระจ่างเท่าไหร่ฆนะจึงยังมีอำนาจรบกวนไม่ให้กำหนดอนัตตลักษณะได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง

สำหรับวิธีการจัดการกับฆนะไม่ให้มีผลกับการกำหนดอนัตตลักษณะนั้นไม่มีวิธีการโดยตรง เพราะฆนะเหล่านี้มีอยู่เป็นปกติ หากธรรมต่าง ๆ ไม่มีความสัมพันธ์กันเนื่องกันแล้ว ก็เท่ากับนิพพานไป แต่ท่านก็ยังคงให้พิจารณาอนัตตลักษณะแบบเดิมเป็นต้นว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก" ดังนี้ โดยมุ่งถึงความไม่มีอำนาจส่วนตัว เป็นไปตามหมู่ปัจจัยเป็นอเนกอนันต์ ต่อไป โดยทำให้มาก ให้ต่อเนื่อง ให้บ่อยครั้งเข้า อนัตตลักษณะก็จะปรากฏชัดขึ้น และฆนะต่าง ๆ แม้จะยังมีอยู่ตามเดิม แต่ก็จะไม่มีอำนาจปกปิดอนัตตลักษณะ หรือ ทำให้อนัตตลักษณะไม่ชัดเจนอีกต่อไป

อนึ่ง ฆนะไม่ได้ปิดบังอนัตตา เพราะอนัตตา คือ ขันธ์ 5 ซึ่งขันธ์ 5 ที่เป็นโลกิยะโดยมากแล้วใคร ๆ แม้ที่ไม่ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถจะเห็นได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรว่า "กามํ อุตฺตานเสยฺยกาปิ ทารกา ถญฺญปิวนาทิกาเล สุขํ เวทยมานา สุขํ เวทนํ เวทยามาติ ปชานนฺติ น ปเนตํ เอวรูปํ ชานนํ สนฺธาย วุตฺตํ - ความจริงแล้ว แม้แต่พวกทารกแบเบาะมีความสุขอยู่ในเวลาขณะที่ดื่มนม ก็ย่อมรู้ชัดอยู่ว่า เรามีสุขเวทนา (คือ รู้ตัวว่ากำลังมีความสุข) อยู่ ดังนี้ แต่การรู้อย่างนี้ท่านไม่ได้ประสงค์เอา (ในการเจริญสติปัฏฐาน) "ดังนี้[11] ดังนั้นแม้เราจะหั่นหมูเป็นชิ้น ๆ จนไม่เหลือสภาพความเป็นหมูอ้วน ๆ ให้เห็นเลยก็ตาม หรือจะเป็นนักวิทยาศาสตร์แยกอะตอม (atom) ออกจนสิ้นเหลือแต่คว๊าก (quark) กับกลูอ้อน (gluon) หรือแยกได้มากกว่านั้นก็ตามที แต่หากไม่มนสิการถึงอนิจจลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก" เป็นต้น (โดยมุ่งถึงความเบียดเบียนบีบคั้น) เราก็จะไม่สามารถเห็นอนัตตลักษณะได้เลย เพราะความสำคัญของการเจริญวิปัสสนาอยู่ที่การนึกอาวัชชนาการถึงไตรลักษณ์อย่างละเอียดบ่อย ๆ เพื่อเปลี่ยนวิปัลลาสทางทิฏฐิ จิต และ สัญญา, ไม่ใช่การทำลายขันธ์ 5 เป็นชิ้น ๆ ด้วยน้ำมือของขันธ์นั้นเองแต่อย่างใดเลย

อนิจจัง กับ อนิจจตา เป็นต้น ไม่เหมือนกัน

[แก้]

ชาวพุทธไทยมักสับสนระหว่างคำว่า อนิจจัง อนิจจตา และ อนิจจลักษณะ เป็นอย่างมาก เรื่องนี้ควรทำความเข้าใจว่า ปกติแล้วในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา อนิจจัง หมายถึง ตัวขันธ์ 5, ส่วนอนิจจตานั้น หมายถึง อาการความเป็นไปของขันธ์ 5 ได้แก่ อนิจจลักษณะ นั่นเอง

ในทุกขัง ทุกขตา และทุกขลักษณะก็ให้กำหนดศัพท์ตามนี้เหมือนกัน

ตัวอย่างของ ทุกขัง อนิจจัง กับ ทุกขตา อนิจจตา เป็นต้นที่ใช้ไม่เหมือนกัน

[แก้]

ในวิสุทธิมรรค อานาปานกถา พบข้อความว่า  :-

"อนิจฺจนฺติ ปญฺจกฺขนฺธา. กสฺมา? อุปฺปาทวยญฺญถตฺตภาวา. อนิจฺจตาติ เตสํเยว อุปฺปาทวยญฺญถตฺตํ, หุตฺวา อภาโว วา, นิพฺพตฺตานํ เตเนวากาเรน อฏฺฐตฺวา ขณภงฺเคน เภโทติ อตฺโถ.- ที่ชื่อว่า อนิจฺจํ ได้แก่ ขันธ์ ๕. ถามว่า ทำไม ? ตอบว่า เพราะเป็นของมีความเกิดขึ้นแล้วแปรเป็นอื่น. ชื่อว่า อนิจจตา ได้แก่ ความแปรเป็นอื่นของขันธ์นั้นนั่นเทียว หรือ อาการมีแล้วก็ไม่มี ก็ได้ อธิบายว่า การไม่ตั้งอยู่ด้วยอาการที่เคยเกิดขึ้นนั้นแล้ว แตกไปด้วยภังคขณะ" ดังนี้[15]

ซึ่งข้อความคล้ายกันนี้ พบอีกในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ แต่เปลี่ยนจาก อนิจฺจตา เป็น อนิจจํ ดังนี้ :-

"อนิจฺจนฺติ ขนฺธปญฺจกํ. กสฺมา? อุปฺปาทวยญฺญถตฺตภาวา, หุตฺวา อภาวโต วา. อุปฺปาทวยญฺญถตฺตํ อนิจฺจลกฺขณํ หุตฺวา อภาวสงฺขาโต วา อาการวิกาโร-ที่ชื่อว่า อนิจจัง ได้แก่ ขันธ์ ๕. ถามว่า ทำไม ? ตอบว่า เพราะเป็นของมีความเกิดขึ้นแล้วแปรเป็นอื่น หรือ เพราะเป็นสิ่งเคยมีแล้วก็ไม่มีก็ได้. อนิจจลักษณะ ได้แก่ ความเกิดขึ้นแล้วแปรเป็นอื่น หรือ ความเปลี่ยนแปลงแห่งอาการ ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เรียกกันว่า มีแล้วก็ไม่มี" ดังนี้[16]

จากข้อความที่ขีดเส้นใต้ จะเห็นได้ว่า ท่านอธิบาย อนิจจัง แยกออกจาก อนิจจตาและอนิจจลักษณะ แต่ใช้สองคำหลังนี้ในความหมายเดียวกัน

อีกตัวอย่าง

เวทนา ตีหิ ทุกฺขตาหิ อวินิมุตฺตโต ทุกฺขาติ สญฺญาสงฺขารา อวิเธยฺยโต อนตฺตาติ วิญฺญาณํ อุทยพฺพยธมฺมโต อนิจฺจนฺติ ทฏฺฐพฺพํ - พึงทราบว่า "เวทนา ชื่อว่า ทุกข์ เพราะไม่พ้นไปจากทุกขตา, สัญญาและสังขาร ชื่อว่า อนัตตา เพราะไม่ได้มีอำนาจเลย, วิญญาณ ชื่อว่า อนิจจัง เพราะมีปกติเกิดขึ้นและดับไป" ดังนี้[17]

จากข้อความนี้จะเห็นได้ว่า มีทั้งคำว่า ทุกข์ และ ทุกขตา ทั้งนี้เนื่องจากเวทนา (ซึ่งความจริงก็รวมขันธ์ทั้ง 5 ไปด้วยตามลักขณหาระ[18][19] นั่นเอง) เรียกว่า ทุกข์ เพราะมีทุกขตา ได้แก่ เรียกว่าทุกข์เพราะมีทุกขลักษณะนั่นเอง, กล่าวคือ เรียกว่า เป็นตัวทุกข์ เพราะมีอาการที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวทุกข์ ได้แก่ อาการบีบคั้น บังคับ เป็นต้น ไม่ได้แปลว่า เรียกว่าทุกข์ เพราะมีทุกข์ แต่อย่างใด

ในบางที่ก็มีการใช้ ทุกฺขตาศัพท์ นี้ ทั้ง 2 ความหมาย คือ ทั้งเป็นทุกขลักษณะด้วย และเป็นทั้งทุกข์ด้วย เช่น ทุกฺขตาติ ทุกฺขภาโว ทุกฺขํเยว วา ยถา เทโว เอว เทวตา - คำว่า ทุกฺขตา หมายถึง ทุกขภาวะ (ทุกขลักษณะ) หรือ ทุกขังนั้นแหละก็ได้ เหมือนคำว่า เทวตา ก็หมายถึง เทวะ (เทพ) นั่นเอง[20] แต่ก็เป็นการใช้ในบางที่เท่านั้น และเพราะในคำอธิบายที่นี้อรรถกถาก็ใช้ทั้ง 2 ความหมายจริง ส่วนโดยทั่วไป ให้สังเกตว่า ท่านกล่าวถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นลักขณวันตะ (สิ่งมีเครื่องกำหนด) กับ อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา เป็นลักขณะ (เครื่องกำหนด) เหมือนกับที่ท่านแยกอนิจจังเป็นต้นให้เป็นลักขณวันตะ ส่วนอนิจจลักษณะเป็นต้นก็ให้เป็นลักขณะ[21] นั่นก็เพราะ อนิจจตาโดยทั่วไปก็หมายถึงอนิจจลักษณะนั่นเอง เพราะเป็นลักขณะสำหรับกำหนดตัวอนิจจัง คือขันธ์ 5 นั่นเอง เช่น ในคัมภีร์อนุฎีกาจึงกล่าวแยกอนิจจะกับอนิจจตาไว้ว่า "ยถาอนิจฺจาทิโต อนิจฺจตาทีนํ วุตฺตนเยน เภโท เอวํ อนิจฺจตาทีนมฺปิ สติปิ ลกฺขณภาวสามญฺเญ นานาญาณโคจรตาย นานาปฏิปกฺขตาย นานินฺทฺริยาธิกตาย จ วิโมกฺขมุขตฺตยภูตานํ อญฺญมญฺญเภโทติ ทสฺเสนฺโต “อนิจฺจนฺติ จ คณฺหนฺโต”ติอาทิมาห- ท่านอาจารย์เมื่อได้แสดงอยู่ว่า "การจำแนกอนิจจตาเป็นต้นจากอนิจจะเป็นต้นโดยนัยตามที่กล่าวไปแล้วนั้นว่าไว้ฉันใด การจำแนกกันและกันออกเป็นวิโมกขมุข์ 3 โดยความเป็นอารมณ์ของญาณต่าง ๆ, โดยความเป็นปฏิปักข์ต่อธรรมต่าง ๆ, โดยความยิ่งด้วยอินทรีย์ต่าง ๆ ในลักษณภาวะที่สามัญญทั่วไปแม้ของอนิจจตาเป็นต้นที่แม้มีอยู่ ก็ว่าไปตามนั้นเหมือนกัน" ท่านจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า "อนิจฺจนฺติ จ คณฺหนฺโต ดังนี้เป็นต้น[22] จากประโยค คำว่า "อนิจฺจาทิโต อนิจฺจตาทีนํ"(ตัวหนา) จะเห็นได้ว่า ท่านไม่กล่าว อนิจจัง กับ อนิจจตาไว้ด้วยกัน แต่จะกล่าวให้อนิจจังมีอนิจจตา หรือ อนิจจตาเป็นของอนิจจังเป็นต้น อนิจจตา กับ อนิจจัง ท่านใช้ต่างกันดังยกตัวอย่างมานี้

อีกประการหนึ่ง ให้สังเกตว่า ท่านจะขยาย "อนิจฺจตา" ว่า "อนิจฺจตาติ หุตฺวา อภาวตา- คำว่า อนิจฺจตา หมายถึง ความเป็นสิ่งที่มีแล้วก็ไม่มี"[23] เป็นต้น, แต่ขยาย อนิจฺจํ ว่า "อนิจฺจนฺติ ปญฺจกฺขนฺธา เต หิ อุปฺปาทวยฏฺเฐน อนิจฺจา- คำว่า อนิจฺจํ หมายถึง ขันธ์ 5, จริงอยู่ ขันธ์ 5 ชื่อว่า อนิจจะ เพราะมีสภาพที่เกิดขึ้นและสิ้นไป"[24]

ในที่อื่นก็ควรประกอบความอย่างนี้ได้ ตามสมควร

อรรถกถา-ฎีกา ใช้ภาษารัดกุม เขียนเนื้อเรื่องไม่สับสน

[แก้]

การแยก อนิจจัง กับ อนิจจตา เป็นต้นอย่างนี้ เวลาศึกษาควรกำหนดใช้ให้เป็นรูปแบบศัพท์แนวนี้ไว้ จะทำให้เวลาอ่านพระไตรปิฎก-อรรถกถา-ฎีกา เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว ไม่เกิดความงุนงง เนื่องจากคัมภีร์ชั้นอรรถกถา-ฎีกานั้นเป็นคัมภีร์ที่ต้องการเน้นอธิบายเนื้อหาที่ชัดเจน ฉะนั้นภาษาที่ใช้จึงมีรูปแบบที่ชัดเจน ค่อนข้างตายตัวอยู่พอสมควร ส่วนรูปแบบการจัดวางเนื้อหานั้นจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างในแต่ละคัมภีร์ ทั้งนี้ก็ปรับตามรูปแบบคัมภีร์อรรถกถารุ่นเก่าที่สืบกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล หรือ ปรับตามที่ท่านผู้รจนาเห็นว่าเหมาะสมกับเนื้อหา เพราะประเด็นที่เน้นในแต่ละที่จะมีเนื้อหาไม่เหมือนกัน เช่น ในอรรถกถาของขุททกปาฐะ เขียนเรื่อง ทวัตติงสาการไว้ไม่เหมือนกับทวัตติงสาการในวิสุทธิมรรค ทั้งนี้ก็เพราะอรรถกถาขุททกปาฐะมุ่งเน้นที่การเขียนเป็นทางเลือกสำหรับพระภิกษุผู้ยังไม่แน่นอนว่าจะเลือกระหว่าง อาการ 32 หรือ จตุธาตุววัตถาน 42 จึงเขียนไว้ทั้ง 2 กรรมฐานสลับกัน ซึ่งก็ตรงตามจุดประสงค์ของคัมภีร์ขุททกปาฐะที่เน้นการเริ่มต้นศึกษาไปตามลำดับ สำหรับแนะแนวการเริ่มปฏิบัติและแนะแนวการสอนปฏิบัติ ส่วนในวิสุทธิมรรค เน้นอธิบายอาการ 32 โดยเฉพาะ ซึ่งก็เป็นไปตามเนื้อหาของคัมภีร์วิสุทธิมรรคที่เน้นอธิบายไปทีละอย่างทีละประเด็นสำหรับปฏิบัติสมาธิ (อาการ 32) และสำหรับการปฏิบัติวิปัสสนา (จตุธาตุววัตถาน 42) อย่างละเอียดในแต่ละเรื่องนั้น ๆ วิธีเขียนจึงแตกต่างกันตามคัมภีร์ไปอย่างนี้ เป็นต้น ไม่ใช่เขียนเอาเองตามใจแต่อย่างใด

อ้างอิง

[แก้]
  1. ติกนิกฺเขปกถาวณฺณนา -34-อนุ- ลีนตฺถวณฺณนา 1 อนุฎีกาธมฺมสงฺคณี (ธมฺมปาล) - อภิ.อนุฏี. 1 ข้อ 987
  2. 3. มหาโพธิชาตกวณฺณนา - -28- (5) - ชาตก-อฏฺฐกถา (พุทฺธโฆส - เกหิจิ นุ โข คเณหิ สห รจิตา) - ขุ.ชา.อฏฺ. 5 ข้อ 136
  3. พุทฺธโฆสาจริโย, วิสุทฺธิมคฺค-อฏฺฐกถา , อุปกฺกิเลสวิมุตฺตอุทยพฺพยญาณกถา, ปฏิปทาญาณทสฺสนวิสุทฺธินิทฺเทโส, วิสุทฺธิ. 2 ข้อ 739.
  4. ธมฺมปาลาจริโย, ปรมตฺถมญฺชูสา-ฎีกา, อุปกฺกิเลสวิมุตฺตอุทยพฺพยญาณกถาวณฺณนา ปฏิปทาญาณทสฺสนวิสุทฺธินิทฺเทสวณฺณนา วิสุทธิมคฺคมหาฎีกา, วิสุทฺธิ.มหาฏี. 2 ข้อ 739.
  5. พุทฺธโฆสาจริโย, สมฺโมหวิโนทนี-อฏฺฐกถา, อายตนวิภงฺคนิทฺเทสวณฺณนา สุตฺตนฺตภาชนีวณฺณนา อภิธมฺม-อฏฺฐกถา,อภิ.อฏฺ. 2 ข้อ 154.
  6. 6.0 6.1 ธมฺมปาลาจริโย, มูลฎีกา, อายตนวิภงฺคนิทฺเทสวณฺณนา สุตฺตนฺตภาชนีวณฺณนา อภิธมฺม-มูลฎีกา, อภิ. มูลฏี. 2 ข้อ 154.
  7. 7.0 7.1 ธมฺมปาลาจริโย, ลีนตฺถวณฺณนา-ฎีกา, อายตนวิภงฺคนิทฺเทสวณฺณนา สุตฺตนฺตภาชนีวณฺณนา อภิธมฺม-อนุฎีกา, อภิ. อนุฏี. 2 ข้อ 154.
  8. พุทฺธโฆสาจริโย, วิสุทฺธิมคฺค-อฏฺฐกถา, อุปกฺกิเลสวิมุตฺตอุทยพฺพยญาณกถา, ปฏิปทาญาณทสฺสนวิสุทฺธินิทฺเทโส, วิสุทฺธิ. 2 ข้อ 739.
  9. ธมฺมปาลาจริโย, ปรมตฺถมญฺชูสา-ฎีกา, อุปกฺกิเลสวิมุตฺตอุทยพฺพยญาณกถาวณฺณนา ปฏิปทาญาณทสฺสนวิสุทฺธินิทฺเทสวณฺณนา วิสุทธิมคฺคมหาฎีกา, วิสุทฺธิ. มหาฏี. 2 ข้อ 739.
  10. พุทฺธโฆสาจริโย, สมฺโมหวิโนทนี-อฏฺฐกถา, อายตนวิภงฺคนิทฺเทสวณฺณนา สุตฺตนฺตภาชนีวณฺณนา อภิธมฺม-อฏฺฐกถา, อภิ. อฏฺ. 2 ข้อ 154.
  11. 11.0 11.1 11.2 9. มหาสติปฏฺฐานสุตฺตวณฺณนา - เวทนานุปสฺสนาวณฺณนา -10- สุมงฺคลวิลาสินี-อฏฐถกถา 2 มหาวคฺค-อฏฺฐกถา (ที.) (พุทฺธโฆส) - ที. อฏฺ. 2 ข้อ 380
  12. 1. กสิภารทฺวาชสุตฺตวณฺณนา - 1. กสิภารทฺวาชสุตฺตวณฺณนา - -15- สารตฺถปฺปกาสินี-อฏฐถกถา 1 สคาถวคฺค-อฏฺฐกถา (พุทฺธโฆส) - สํ.อฏฺ. 1 ข้อ 197
  13. 14. เอตทคฺควคฺโค - 18. อปรอจฺฉราสงฺฆาตวคฺควณฺณนา -20- (1) - สารตฺถมญฺชูสา 1 องฺคุตฺตรนิกายฎีกา เอกกนิปาตฎีกา (สารีปุตฺต) - อํ.ฏี. 2 ข้อ 453
  14. 1. กสิภารทฺวาชสุตฺตวณฺณนา - 1. กสิภารทฺวาชสุตฺตวณฺณนา - -15- ลีนตฺถปฺปกาสนา 1 สคาถวคฺคฎีกา (ธมฺมปาล) - สํ.ฏี. 1 ข้อ 197
  15. สตฺตโม ปริจฺเฉโท. - อานาปานสฺสติกถา - วิสุทฺธิมคฺค-ติปิฏกสงฺเขปอฏฺฐกถา 1 (พุทฺธโฆส) - วิสุทฺธิ. 1 ข้อ 236
  16. วีสติโม ปริจฺเฉโท. - อุปกฺกิเลสวิมุตฺตอุทยพฺพยญาณกถา - วิสุทฺธิมคฺค-ติปิฏกสงฺเขปอฏฺฐกถา 2 (พุทฺธโฆส) - วิสุทฺธิ. 2 ข้อ 740
  17. 1. ขนฺธวิภงฺโค - กมาทิวินิจฺฉยกถา -35- สมฺโมหวิโนทนี วิภงฺค-อฏฺฐกถา (พุทฺธโฆส) - อภิ.อฏฺ. 2 ข้อ 26
  18. ดู : http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=91 มีอ้างถึงลักขณหาระในอรรถกถาวัตถูปมสูตร ข้อ ๘๙
  19. ดู : [1] มีอ้างถึงลักขณหาระในอรรถกถามูลปริยายสูตร
  20. 10. สงฺคีติสุตฺตวณฺณนา - ติกวณฺณนา-11- ลีนตฺถปฺปกาสนา 3 ปาถิกวคฺคฎีกา (ธมฺมปาล) - ที.ฏี. 3 ข้อ 305
  21. 2. อายตนวิภงฺโค - 1. สุตฺตนฺตภาชนียวณฺณนา - -35-อนุ- ลีนตฺถวณฺณนา 2 อนุฎีกาวิภงฺค์ (ธมฺมปาล) - อภิ. อนุฏี. 2 ข้อ 154
  22. 2. อายตนวิภงฺโค - 1. สุตฺตนฺตภาชนียวณฺณนา - -35-อนุ- ลีนตฺถวณฺณนา 2 อนุฎีกาวิภงฺค์ (ธมฺมปาล) - อภิ.อนุฏี. 2 ข้อ 154
  23. 8. มหาหตฺถิปโทปมสุตฺตวณฺณนา -12- (2) - ปปญฺจสูทนี-อฏฐถกถา 1 มูลปณฺณาสก-อฏฺฐกถา 2 (พุทฺธโฆส) - ม.อฏฺ. 1 (2) ข้อ 302
  24. 7. จูฬตณฺหาสงฺขยสุตฺตวณฺณนา -12- (2) - ปปญฺจสูทนี-อฏฐถกถา 1 มูลปณฺณาสก-อฏฺฐกถา 2 (พุทฺธโฆส) - ม.อฏฺ. 1 (2) ข้อ 390