Nothing Special   »   [go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

อาสการ์เดอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในตำนานนอร์ส อาสการ์เดอร์ (นอร์สเก่า: Ásgarðr) เป็นสถานที่ของทวยเทพและเป็นที่ตั้งของโถงวัลฮ็อลล์ของจอมเทพโอดินน์[1] อาสการ์เดอร์ได้รับการกล่าวถึงในหนังสือหลายเล่มซึ่งรวมถึง Poetic Edda ที่เรียบเรียงขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 13

กำแพงแห่งอาสการ์เดอร์

[แก้]
ป่านอกอาสการ์เดอร์

อาสการ์เดอร์มีกำแพงและปราการขนาดมหึมาคอยป้องกันภัยจากเหล่ายักษ์ กำแพงนี้ถูกสร้างโดยนายช่างที่เป็นยักษ์ไม่ปรากฏนาม เขาเสนอสร้างกำแพงเสร็จในสามฤดูโดยเรียกร้องค่าตอบแทนเป็นการแต่งงานกับเทพีเฟร็วยา พร้อมกับขอพระอาทิตย์และพระจันทร์ เหล่าทวยเทพปรึกษากันและเห็นพ้องในทางคัดค้าน แต่โลกีเสนอให้ตั้งเงื่อนไขใหม่ว่านายช่างต้องสร้างกำแพงเสร็จในฤดูหนาวเพียงฤดูเดียวและห้ามใครช่วยเหลือนอกจากม้าของตน ทวยเทพยอมตกลงด้วยมองว่าเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว นายช่างก็รับเงื่อนไขใหม่เช่นกัน

นายช่างเริ่มสร้างกำแพง ทวยเทพเห็นว่าม้าของนายช่างที่ชื่อสวาดิลวารี[2] นั้นทำงานเร็วเป็นสองแรงของนายช่าง กำแพงถูกสร้างอย่างรวดเร็ว ก่อนหน้าเส้นตายเพียงสามวัน กำแพงก็สูงใหญ่เกินกว่าที่ศัตรูใดจะบุกได้ ตอนนี้เหลือแค่เพียงก่อหินเป็นซุ้มประตูเท่านั้นก็จะแล้วเสร็จ เหล่าทวยเทพต่างอยู่ไม่สุขและหันไปดุด่าโลกี พวกเขาขู่โลกีว่าหากกำแพงเสร็จในกำหนดจะฆ่าโลกีเสีย หากเสียพระอาทิตย์ไปทั้งเก้าโลกก็จะอยู่ในความมืดมิดนิรันดร์

คืนนั้น นายช่างกับม้าสวาดิลวารีกลับเข้าป่าเพื่อหาก้อนหินมาเพิ่ม ระหว่างทาง สวาดิลวารีเห็นม้าตัวเมียตัวหนึ่ง (คือโลกีที่จำแลงกายมา) แล้วก็วิ่งตามนางหายเข้าไปในป่า ม้าตัวเมียวิ่งทั้งคืนขณะที่สวาดิลวารีก็วิ่งตามทั้งคืนเช่นกัน จนรุ่งเช้า สวาดิลวารีก็ยังไม่กลับมาหานายช่าง ท้ายที่สุดกำแพงก็สร้างไม่เสร็จตามกำหนด เหล่าทวยเทพใช้ค้อนแห่งธอร์ฆ่านายช่างเสีย ส่วนโลกีกับสวาดิลวารีก็ให้กำเนิดบุตรเป็นม้าแปดขาสีเทาที่ชื่อว่าสเลย์ปนีร์

สะพานบิฟร็อสต์

[แก้]

อาสการ์เดอร์มีสะพานสายรุ้งอันโชติช่วงที่ชื่อบิฟร็อสต์ (Bifrǫst) ซึ่งเชื่อมไปยังแดนมนุษย์ที่เรียกมิดการ์เดอร์ สะพานสายรุ้งมีจุดเริ่มต้นบริเวณที่พำนักของของเทพผู้พิทักษ์เฮย์มดัลเลอร์ (Heimdallr) อย่างไรก็ตาม สะพานนี้ถูกทำลายโดยยักษ์ไฟ (Muspelheim) ในช่วงเหตุการณ์แรกนะร็อก นักวิชาการบางส่วนเชื่อว่าสะพานสายรุ้งอาจสื่อถึงทางช้างเผือก

อ้างอิง

[แก้]
  1. Simek (2007:20).
  2. Simek, Rudolf. 1993. Dictionary of Northern Mythology. Translated by Angela Hall. p. 305.