Nothing Special   »   [go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

หมูหริ่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หมูหริ่ง
หมูหริ่งที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ประเทศไทย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Carnivora
วงศ์: Mustelidae
สกุล: Arctonyx
Cuvier, 1825
สปีชีส์: A.  collaris
ชื่อทวินาม
Arctonyx collaris
(Cuvier, 1825)

หมูหริ่ง, หมูหรึ่ง หรือ หมูดิน (อังกฤษ: hog badger, Indian badger) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดกลางชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Arctonyx collaris อยู่ในวงศ์ Mustelidae อันเป็นวงศ์เดียวกับเพียงพอนหรือวีเซล โดยที่หมูหริ่งอยู่ในสกุล Arctonyx นับเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุลนี้ที่ยังสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะ

[แก้]

หมูหริ่งมีรูปร่างอ้วนใหญ่และขนยาว หูและหางค่อนข้างสั้น มีเล็บเท้าหน้ายาวและแข็งแรงแลเห็นได้ชัดเจน ใช้สำหรับขุดดิน จมูกยื่นยาวออกมาคล้ายจมูกหมูช่วยในการดุนขุดคุ้ยดินหาอาหารคล้ายหมูป่า อันเป็นที่มาของชื่อ มีขนตามลำตัวสีเหลือง เทาและดำ โดยสีขนจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ขนบริเวณคาง ขาหน้า หัวไหล่ หลัง และขาเป็นสีดำ มีแถบสีขาวบริเวณแก้มและหน้าผาก เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักประมาณ 7–14 กิโลกรัม ความยาวลำตัวและหัว 65–104 เซนติเมตร หมูหริ่งจึงถือเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์ Mustelidae ที่พบในทวีปเอเชีย

นิเวศวิทยาและพฤติกรรม

[แก้]

สามารถปรับตัวอาศัยอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายทั้งป่าดิบที่ราบต่ำ, ป่าดิบชื้น และป่าไผ่ที่มีความสูงถึง 3,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล สามารถกินอาหารได้หลายประเภท เช่น ผลไม้, หน่อไม้ ,รากพืช, ไส้เดือน, แมลง ชนิดต่าง ๆ , กิ้งกือ, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เป็นต้น โดยทั่วไปมักจะออกหากินในเวลากลางคืน และหลบนอนพักตามโพรงดินที่มีทางเข้าออกได้หลายทาง ที่ขุดไว้ในเวลากลางวัน หากินและอยู่อาศัยตามลำพัง ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์ที่อาจอยู่เป็นคู่ ประสาทตาไม่ค่อยดีนัก จึงมีประสาทการดมกลิ่นที่ดีเยี่ยมเป็นสิ่งทดแทน มีนิสัยที่ค่อนข้างดุ เมื่อพบศัตรูจะพองขนตั้งชันและสามารถยืนสองขาได้เหมือนหมี อีกทั้งยังมีกลิ่นตัวเหม็นรุนแรงเป็นสิ่งใช้ขับไล่ศัตรูอีกด้วย ในสมัยอดีต มนุษย์ใช้ประโยชน์จากหมูหริ่งด้วยการสกัดทำน้ำมันได้ด้วย[2]

มีฤดูผสมพันธุ์ในช่วงปลายฤดูหนาวจนถึงฤดูร้อน ตั้งท้องนานราว 6 เดือน ออกลูกครั้งละ 2–4 ตัว และมีอายุยืนประมาณ 6–7 ปี

การแพร่กระจายพันธุ์

[แก้]

หมูหริ่งพบแพร่กระจายพันธุ์ตั้งแต่เนปาล, ภูฏาน, อินเดีย, จีน, พม่า, ภูมิภาคอินโดจีน ไปจนถึงเกาะสุมาตรา สำหรับในประเทศไทยพบได้ทุกภูมิภาค อาทิ อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นต้น

ปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Timmins, R.J., Long, B., Duckworth, J.W., Wang Ying-Xiang and Than Zaw (2008). "Arctonyx collaris". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.2.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. หมูหริ่ง จากสนุกดอตคอม
  3. กองทุนสัตว์ป่าโลก. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน. กรุงเทพฯ : ไซรัสการพิมพ์, 2543. 256 หน้า. ISBN 974-87081-5-2

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]