สมมุติฐานเฉพาะกิจ
ในการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และปรัชญา สมมุติฐานเฉพาะกิจ[2] (อังกฤษ: ad hoc hypothesis) หรือ คำอธิบายเฉพาะกิจ หมายถึงสมมุติฐานที่ใส่เพิ่มเข้าไปให้กับทฤษฎี เพื่อป้องกันไม่ให้ทฤษฎีนั้นพิสูจน์ว่าเป็นเท็จได้ นั่นก็คือ เป็นการเพิ่มคำแก้เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่ทฤษฎีนั้นไม่สามารถคาดหมายหรือไม่สามารถทำนายได้โดยไม่ต้องแก้ไข
ในหมู่นักวิทยาศาสตร์
[แก้]นักวิทยาศาสตร์มักจะไม่ค่อยให้ความเชื่อถือกับทฤษฎีที่ต้องมีการแก้ไขบ่อย ๆ โดยไม่มีเหตุผลที่ดี นี้เป็นเพราะว่า เจ้าของทฤษฎีนั้น สามารถเลือกที่จะต่อเติมทฤษฎีของตนโดยการเพิ่มใส่สมมุติฐานเฉพาะกิจโดยไม่จำกัด เพื่อที่จะให้ทฤษฎีนั้นเข้ากับหลักฐานที่ปรากฏได้ ดังนั้น แม้ว่า ทฤษฎีนั้นอาจจะมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ แต่ว่า ก็จะยังตรงกับความจริง และย่อมทำให้เกิดผลเสียว่า ความสามารถในการทำนายเหตุการณ์ที่ทฤษฎีนั้นควรจะทำนายได้ จะมีสมรรถภาพลดลง[1] ประเด็นความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์เทียมเช่นความสามารถในการรับรู้เหนือมนุษย์ (extrasensory perception ตัวย่อว่า ESP) มักจะต้องอาศัยสมมุติฐานเฉพาะกิจ เพื่อที่จะรักษาทฤษฎีนั้น ๆ ให้สอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏ[3]
ให้สังเกตว่า สมมุติฐานเฉพาะกิจไม่ใช่ว่าจะไม่ถูกเสมอไป ในกรณีเกี่ยวกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง บางครั้ง การเสริมแก้ทฤษฎีนั้นเพียงเล็กน้อยก็สามารถจะทำให้ทฤษฎีนั้นสมบูรณ์ขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น การเติมค่าคงตัว cosmological constant ให้กับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ เพื่อที่จะให้ทฤษฎีสอดคล้องกับเอกภพที่ไม่หดไม่ขยายได้ ก็เป็นการเสริมแก้ "เฉพาะกิจ" และถึงแม้ว่า ไอน์สไตน์ภายหลังได้กล่าวว่า การเพิ่มค่าคงตัวนั้นเป็นความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขา แต่ว่า จริง ๆ แล้ว การเพิ่มค่านั้นอาจทำให้ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปเข้ากับทฤษฎีเกี่ยวกับพลังงานมืดได้[4]
เพื่อที่จะลดการสร้างสมมุติฐานเฉพาะกิจในกระบวนการวิทยาศาสตร์ วิธีหนึ่งที่ใช้ก็คือกระบวนการพิสูจน์ว่าเป็นเท็จ นั่นก็คือเมื่อทฤษฎีนั้นมีข้อมูลหลักฐานที่พิสูจน์ว่าเป็นเท็จ หรือว่า มีการเพิ่มสมมุติฐานเฉพาะกิจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทฤษฎีนั้นก็จะมีโอกาสถูกปฏิเสธเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
ดูเพิ่ม
[แก้]เชิงอรรถและอ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Stanovich, Keith E. (2007) . How to Think Straight About Psychology. Boston: Pearson Education. Pages 19-33
- ↑ "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑"
- ↑ Carroll, Robert T. "Ad hoc hypothesis." The Skeptic's Dictionary. 22 Jun. 2008 <http://skepdic.com/adhoc.html>.
- ↑ Texas A&M University. "Einstein's Biggest Blunder? Dark Energy May Be Consistent With Cosmological Constant." ScienceDaily 28 November 2007. 22 June 2008 <http://www.sciencedaily.com/releases/2007/11/071127142128.htm>.