Nothing Special   »   [go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:Pyehoya

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประวัติชาติไทย

เชื่อว่ามีมนุษย์อยู่อาศัยอยู่ถาวรในอาณาเขตประเทศไทยปัจจุบันมาแล้วประมาณ 40,000 ปี เดิมชาวมอญ ขอมและมลายูปกครองพื้นที่ดังกล่าว โดยมีอาณาจักรใหญ่ เช่น ฟูนาน ทวารวดี หริภุญชัย จักรวรรดิขอม และตามพรลิงก์ รัฐของชาวไทเกิดขึ้นจำนวนมากในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ประมาณปี 1780 พ่อขุนบางกลางหาวรวบรวมกำลังแยกจากขอม และตั้งอาณาจักรสุโขทัย เหนือขึ้นไป พญามังรายทรงตั้งอาณาจักรล้านนาในปี 1839 มีศูนย์กลางอยู่ที่เชียงใหม่ ทรงรวบรวมแว่นแคว้นขึ้นในแถบลุ่มแม่น้ำปิง ส่วนบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีการตั้งสหพันธรัฐในบริเวณเพชรบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรีและอยุธยาในคริสต์ศตวรรษที่ 11 นักประวัติศาสตร์กระแสหลักมักเลือกนับสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของคนไทย [1]

อาณาจักรอยุธยาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1893 ต่อมาเป็นใหญ่แทนจักรวรรดิเขมร และแทรกแซงอาณาจักรสุโขทัยอย่างต่อเนื่องจนสุดท้ายถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงจัดการปกครองโดยแบ่งพลเรือนกับทหารและจตุสดมภ์ซึ่งบางส่วนใช้สืบมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงริเริ่มระบบเจ้าขุนมูลนาย ทำให้ประชากรส่วนใหญ่เป็นไพร่ใช้แรงงานปีละ 6 เดือน กรุงศรีอยุธยาเริ่มติดต่อกับชาติตะวันตกเมื่อ พ.ศ. 2054 หลังจากนั้นในปี 2112 กรุงศรีอยุธยาตกเป็นประเทศราชของราชวงศ์ตองอูแห่งพม่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพในอีก 15 ปีให้หลัง กรุงศรีอยุธยายังติดต่อกับชาติตะวันตก จนรุ่งเรืองถึงขีดสุดในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ความขัดแย้งภายในติด ๆ กันหลายรัชกาลในราชวงศ์บ้านพลูหลวง และการสงครามกับราชวงศ์คองบอง (อลองพญา) จนส่งผลให้เสียกรุงครั้งที่สองเมื่อปี 2310 หลังจากนั้นบ้านเมืองแตกออกเป็นชุมนุมต่าง ๆ เจ้าตากทรงรวบรวมแผ่นดินและขยายอาณาเขต หลังเกิดความขัดแย้งช่วงปลายรัชกาล พระองค์และพระราชโอรสทั้งหลายทรงถูกสำเร็จโทษโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นในปี 2325

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาอำนาจปกครองเหนือประเทศลาวและกัมพูชาปัจจุบันและยุติสงครามกับพม่า ต่อมากรุงรัตนโกสินทร์ถูกครอบงำด้วยปัญหาความพยายามแผ่อิทธิพลของชาติตะวันตกโดยมีการบรรลุสนธิสัญญาต่าง ๆ เช่น สนธิสัญญาเบอร์นี สนธิสัญญาเบาว์ริง ตามด้วยสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมอีกหลายฉบับ เป็นการเริ่มต้นการทำให้ประเทศทันสมัยและกลายเป็นตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มการรวมศูนย์อำนาจแทนให้เจ้าท้องถิ่นปกครองแบบเดิม เลิกทาสและไพร่ และจัดระเบียบการปกครองแบบกระทรวง มีการยอมแลกดินแดนหลายครั้งเพื่อแลกกับการแก้ไขสนธิสัญญาต่าง ๆ ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประเทศสยามถือฝ่ายสัมพันธมิตร

ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ไม่เป็นผล มีส่วนให้เกิดการปฏิวัติในปี 2475 อันนำมาซึ่งการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและทำให้คณะราษฎรมีบทบาททางการเมือง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยถูกญี่ปุ่นบุกครองและลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น หลังสงครามยุติในปี 2488 ประเทศไทยสามารถบอกเลิกสถานะสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำให้ไม่ตกอยู่ในสภาพผู้แพ้สงคราม ระหว่างสงครามเย็น ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐเต็มตัว และรัฐประหารในปี 2500 ทำให้คณะราษฎรหมดอำนาจและมีการรื้อฟื้นพระราชอำนาจ สงครามเวียดนามเร่งให้เกิดการพัฒนาและความเหลื่อมล้ำในประเทศ ทำให้เกิดการสำนึกทางการเมืองของชนชั้นกลาง "เหตุการณ์ 14 ตุลา" ปี 2516 นำมาซึ่ง "ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน" ช่วงสั้น ๆ ซึ่งสิ้นสุดลงด้วยรัฐประหารในปี 2519 การก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ยุติในปี 2523

ขณะเดียวกันระบอบการปกครองของไทยสลับกันระหว่างเผด็จการทหารและประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอยู่เรื่อย ๆ เศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงเฉียบพลัน ในพุทธทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยตกอยู่ในวิกฤตการณ์การเมืองระหว่างฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านทักษิณ ชินวัตรเป็นหลัก โดยมีรัฐประหารล่าสุดในปี 2557

  1. checksum (help)  หน้า 55 ห้องนิทรรศการ 1 เครื่องราชบรรณาการแก่สหรัฐในแง่ประวัติศาสตร์ ก. สนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ ค.ศ.1833 เก็บถาวร 2015-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Smithsonian Institution. สืบค้นเมื่อ 17-12-2553. ชัย เรืองศิลป์ (2541). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านเศรษฐกิจ. ไทยวัฒนาพานิช. ISBN 9740841244. หน้า 183. เพ็ญศรี ดุ๊ก. (2542). การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย. บริษัท เท็กซ์ แอนด์ เจอร์นัล พับลิเคชั่น จำกัด. หน้า 3. กระโดดขึ้นไป:18.00 18.01 18.02 18.03 18.04 18.05 18.06 18.07 18.08 18.09กระโดดขึ้นไป:19.0 19.1 19.2 19.3 19.4 19.5 19.6 Veerayooth Kanchoochat & Kevin Hewison. (2016). Introduction: Understanding Thailand’s Politics, Journal of Contemporary Asia, 46:3, 371-387, DOI: 10.1080/00472336.2016.1173305 กระโดดขึ้นไป:21.0 21.1 21.2 21.3 Kongkirati, P., & Kanchoochat, V. (2018). The Prayuth Regime: Embedded Military and Hierarchical Capitalism in Thailand. TRaNS: Trans -Regional and -National Studies of Southeast Asia, 6(2), 279-305. doi:10.1017/trn.2018.4