ประมวลเรื่องปรัมปราเมโสโปเตเมีย
ประมวลเรื่องปรัมปราเมโสโปเตเมีย หมายถึงกลุ่มเรื่องปรัมปรา คัมภีร์ หรือวรรณกรรมที่มาจากภูมิภาคเมโสโปเตเมียในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารยธรรมซูเมอร์ แอกแคด และอัสซีเรีย ซึ่งทั้งหมดดำรงอยู่ในช่วงประมาณ 3000–400 ปีก่อนคริสตกาล[1] งานเหล่านี้ถูกจารด้วยอักษรรูปลิ่มบนแผ่นหินหรือดินเหนียว บอกเล่าเรื่องราวความเชื่อและจักรวาลวิทยาของชาวเมโสโปเตเมีย
ตำนานการถือกำเนิด
[แก้]ชาวเมโสโปเตเมียมีการบันทึกตำนานการถือกำเนิดไว้หลายเรื่อง ซึ่งแตกต่างไปตามอารยธรรมที่มีอำนาจในขณะนั้น บางเรื่องซ้ำซ้อนกันเนื่องจากเป็นการเล่าต่อกันมาแบบปากเปล่า ตำนานการถือกำเนิดที่เชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดคือ ตำนานกำเนิดอีริดู (The Eridu Genesis) หรือตำนานการถือกำเนิดของซูเมอร์ อายุราว 2300 ปีก่อนคริสตกาล ตำนานนี้พอจะสรุปได้ว่ามีการสร้างเมืองมนุษย์โดยเหล่าเทพ แต่ภายหลังเทพเอนลิล เทพสูงสุดของปวงเทพซูเมอร์ดลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เพื่อจำกัดประชากรมนุษย์ที่มากเกิน Ziusudra กษัตริย์แห่งเมืองชูรัปปักผู้ได้รับคำเตือนจากพระผู้สร้างเองกีได้ขึ้นเรือใหญ่เพื่อลี้ภัยน้ำท่วม ทั้งนี้ไม่ทราบเนื้อหาต่อจากนี้เนื่องจากแผ่นจารึกอยู่ในสภาพเสียหายมากและเนื้อหาหลายส่วนขาดหายไป[2][3]
อะทราฮาซิส (Atra-Hasis) เป็นตำนานการถือกำเนิดที่มีเนื้อหาคล้ายตำนานกำเนิดอีริดู บันทึกด้วยภาษาแอกแคดในสมัยศตวรรษที่ 18 ก่อนคริสตกาล บรรยายการสร้างมนุษย์คนแรกโดยเทพีมามีเพื่อลดภาระงานของเทพ แต่เมื่อมนุษย์มีประชากรมากเกิน เทพเอนลิลได้บันดาลให้เกิดเภทภัยต่าง ๆ รวมถึงน้ำท่วมใหญ่ อะทราฮาซิส กษัตริย์เมืองชูรัปปักผู้ได้รับคำเตือนจากเทพเองกีได้พาครอบครัวและฝูงสัตว์ขึ้นเรือใหญ่ก่อนจะเกิดน้ำท่วมนาน 7 วัน และจบลงที่อะทราฮาซิสได้ขึ้นสู่สรวงสวรรค์[4][5]
เอนูมาเอลิช (Enûma Eliš) เป็นตำนานการถือกำเนิดของบาบิโลเนีย ฉบับที่ค้นพบที่หอสมุดอาชูร์บานิพัลอยู่ในสมัยศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล แต่อาจสืบย้อนไปไกลถึงรัชสมัยพระเจ้าฮัมมูราบีราวศตวรรษที่ 18 ก่อนคริสตกาล อีนูมาอีลิชกล่าวถึงการก่อกำเนิดของจักรวาลและสงครามระหว่างเทพยุคบรรพกาลกับเทพยุคหลังที่จบลงด้วยชัยชนะของมาร์ดุก ผู้สร้างโลกจากร่างติอามัตผู้พ่ายแพ้ และสร้างมนุษย์จากชิ้นส่วนของเทพที่สนับสนุนติอามัต[6]
ตำนานวีรบุรุษ
[แก้]นอกเหนือจากตำนานการถือกำเนิด ชาวเมโสโปเตเมียยังบันทึกเรื่องราวของวีรบุรุษ เช่น มหากาพย์กิลกาเมชที่เล่าถึงการผจญภัยของกษัตริย์กิลกาเมชผู้ทะนงตน นำไปสู่การสูญเสียเพื่อนสนิทเอนกิดู ทำให้กิลกาเมชออกตามหาคุณค่าของชีวิตก่อนจะจบลงที่กิลกาเมชยอมรับชะตากรรมตนเองแล้วกลับมาปกครองเมืองอย่างเป็นสุข[7] มีการประมาณว่ามหากาพย์กิลกาเมชอยู่ในสมัย 1800 ปีก่อนคริสตกาล ถือเป็นหนึ่งในงานประพันธ์ช่วงต้นประวัติศาสตร์ที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน เป็นคัมภีร์ทางศาสนาที่เก่าแก่เป็นอันดับสองรองจากข้อความพิระมิด[8] และเชื่อว่ามีอิทธิพลบางส่วนต่องานรุ่นหลังอย่างหนังสือปฐมกาล[9]
ตำนานอะดาปากล่าวถึงอะดาปา มนุษย์ผู้ปราดเปรื่องที่หักปีกของลมใต้หลังทำให้เรือเขาล่ม เทพแห่งท้องฟ้าอันจึงเรียกตัวเขาไปพบ แต่ระหว่างนั้นเทพเองกีได้สั่งให้อะดาปาปฏิเสธอาหารที่เทพอันประทานให้ทั้งที่อาหารนั้นจะทำให้อะดาปากลายเป็นอมตะ ท้ายที่สุดอะดาปาเชื่อเทพเองกีแล้วกลับมาโลกมนุษย์อย่างผู้ที่ต้องตาย ตำนานอะดาปาอธิบายความตายและการตกในบาปของมนุษย์ตามความเชื่อของชาวเมโสโปเตเมีย[10] มีที่มาจากบาบิโลเนียสมัยที่ปกครองโดยชนชาวแคสไซต์สมัยศตวรรษที่ 16 ก่อนคริสตกาล[11]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Mesopotamian religion". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-05-02.
- ↑ Mark, Joshua J. (May 7, 2020). "Eridu Genesis". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.
- ↑ "The Great Flood: Sumerian version". Livius. October 12, 2020. สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.
- ↑ Mark, Joshua J (March 6, 2011). "The Atrahasis Epic: The Great Flood & the Meaning of Suffering". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.
- ↑ "The Epic of Atraḥasis". Livius. October 12, 2020. สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.
- ↑ Mark, Joshua J. (May 4, 2018). "Enuma Elish - The Babylonian Epic of Creation - Full Text". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.
- ↑ Mark, Joshua J. (March 29, 2018). "Gilgamesh". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.
- ↑ "Study: 'Trickster' Babylonian god used puns in ancient flood story". The Times of Israel. December 1, 2019. สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.
- ↑ "Epic of Gilgamesh". New World Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.
- ↑ "Adapa - Mesopotamian mythology". Britannica. สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.
- ↑ Mark, Joshua J. (February 23, 2011). "The Myth of Adapa". สืบค้นเมื่อ November 14, 2020.