ปลาตะลุมพุก
ปลาตะลุมพุก | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Clupeiformes |
วงศ์: | Clupeidae |
สกุล: | Tenualosa |
สปีชีส์: | T. toli |
ชื่อทวินาม | |
Tenualosa toli (Valenciennes, 1847) | |
ชื่อพ้อง[1] | |
บทความนี้หมายถึงปลา ส่วนตะลุมพุกในความหมายอื่นดูที่: ตะลุมพุก
ปลาตะลุมพุก หรือ ปลากระลุมพุก[2] หรือ ปลาหลุมพุก (ใต้) เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่งที่เข้ามาวางไข่ในน้ำจืด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tenualosa toli ในวงศ์ปลาหลังเขียว (Clupeidae)
ลักษณะ
[แก้]ปลาตะลุมพุกมีรูปร่างคล้ายปลาในวงศ์ปลาตะเพียน แต่ลำตัวเพรียวกว่า และส่วนครีบหลังหางยาวเว้าลึกกว่ามาก ปากกว้าง ลูกตามีเยื่อไขมันคลุม ครีบอก ครีบท้อง และครีบก้นเล็ก เกล็ดใหญ่แต่บางคลุมทั้งลำตัว เกล็ดท้องเป็นสันคม ลำตัวด้านหลังมีสีคล้ำอมฟ้าอ่อนหรือเขียวอ่อน เช่นเดียวกับหัว ด้านข้างเป็นสีเงินอมฟ้าหรือเหลืองอ่อนไปจนถึงท้อง ในปลาที่ไม่สดนักมักมีสีแดงเรื่อ ๆ ที่ข้างลำตัว ครีบมีสีเหลืองอ่อน ครีบหางสีเหลืองอ่อนเหลือบฟ้า ขอบสีคล้ำ มีขนาดโตเต็มที่ได้ราว 35–45 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์ในชายฝั่งทะเลตั้งแต่อ่าวเบงกอลจนถึงทะเลจีนใต้และอินโด-แปซิฟิก
พบในประเทศไทย
[แก้]สำหรับในประเทศไทย ในอดีตราว 60 ปีก่อน เคยพบชุกชุมในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะว่ายเข้ามาวางไข่ถึงตำบลบางยี่ขัน อำเภอบางพลัด เชื่อกันว่าปลาชนิดนี้ชอบมากินกากส่าเหล้าที่โรงสุราบางยี่ขัน (ปัจจุบัน คือ ที่ตั้งของมูลนิธิชัยพัฒนา ภายในสวนหลวงพระราม 8 บริเวณเชิงสะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี) กลั่นทิ้ง โดยแหล่งขึ้นชื่อการวางไข่ของปลาตะลุมพุก พบได้ตั้งแต่ตำบลสามเสน ขึ้นไปวางไข่ไกลถึงอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี รวมถึงพบชุกชุมที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช อันเป็นที่มาของชื่อสถานที่ด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีอนุสาวรีย์ปลาตะลุมพุกสีเหลืองแสดงไว้อยู่[3]
ในปี ค.ศ. 1935 ซึ่งในเวลานั้นจำนวนปลาก็ลดลงมากแล้ว ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ อธิบดีกรมประมงคนแรกรายงานว่า
เป็นปลาที่มีความนิยมมากในหมู่คนจีน และมีผู้มารอรับซื้อจากชาวประมงอวนลอย ให้ราคาตัวละ 1-3 บาท
ปัจจุบัน ปลาตะลุมพุกสูญพันธุ์ไปแล้วจากแม่น้ำเจ้าพระยา และหายากมากที่ทะเลสาบสงขลาและระนอง แต่ยังมีพบบ้างที่แม่น้ำราจังที่รัฐซาราวัก ในมาเลเซีย แต่ก็ลดจำนวนลงมากแล้ว [4] ปลาตะลุมพุกที่พบวางขายในตลาดสดในกรุงเทพมหานคร หรือภาคใต้ นั้นนำเข้ามาจากประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ได้แก่ พม่า, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย เข้าใจว่าน่าจะเป็นปลาตะลุมพุกชนิด T. ilisha ซึ่งเป็นปลาคนละชนิดมากกว่า เป็นปลาที่ชาวจีนนิยมบริโภคมาก แม้ว่าเนื้อจะมีก้างมาก แต่ต้องรู้วิธีการปรุงและบริโภคจึงไม่ถูกก้างตำ เนื้อมีรสชาติดี มีราคาขายที่แพงมาก[5]
ในกลางปี ค.ศ. 2010 ทางกรมประมงได้ทำโครงการปะการังเทียมขึ้นทั้งทางอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ปรากฏว่า มีปลาหลายชนิดที่หายากหวนกลับคืนมา รวมถึงปลาตะลุมพุกด้วย[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Tenualosa toli". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
- ↑ [https://web.archive.org/web/20110913013731/http://www.siamjurist.com/forums/459-3.html เก็บถาวร 2011-09-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน รวมศัพท์น่ารู้จากราชบัณฑิตยสถาน]
- ↑ "วิเคราะห์คอลัมนิสต์". ฟ้าวันใหม่. 2018-07-05.
- ↑ กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์, ชวลิต วิทยานนท์ ดร., ปลาน้ำจืดหายากที่สุด ๑๐ ชนิดของไทย นิตยสาร Aquarium Biz หน้า 66 ฉบับที่ 16 ปีที่ 2: ตุลาคม 2011
- ↑ ชวลิต วิทยานนท์. ปลาน้ำจืดไทย. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2544. 116 หน้า. หน้า 36. ISBN 974-475-655-5 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
- ↑ "ปะการังเทียมช่วยปลาตะลุมพุก หวนกลับสู่น่านน้ำไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-19. สืบค้นเมื่อ 2011-10-08.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help)