Nothing Special   »   [go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

กาซีเก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กาซีเก (สเปน: cacique) เป็นชื่อชนชั้นหนึ่งในฟิลิปปินส์สมัยที่เป็นอาณานิคมของสเปน คำนี้มาจากภาษาสเปนใช้เรียกชนชั้นหัวหน้าการปกครองของชาวพื้นเมือง ในสังคมสมัยนั้นเป็นชนชั้นเดียวที่ได้ประโยชน์จากการปกครองของสเปน ได้เป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ แลเป็นเจ้าของแรงงานที่ทำงานในที่ดินนั้น อำนาจของชนชั้นกาซีเกคงอยู่จนกระทั่งสหรัฐอเมริกาเข้ามาปกครองฟิลิปปินส์ สหรัฐได้เน้นให้การศึกษาแก่ชนพื้นเมืองโดยไม่แบ่งแยกชนชั้น ทำให้เกิดชนชั้นใหม่ที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น ชนชั้นกาซีเกจึงหมดบทบาทลง ในปัจจุบัน คำว่ากาซีเกหมายถึงคนที่มีอิทธิพลและมีเงินมาก ซึ่งมีความหมายค่อนไปทางลบ

ก่อนที่สเปนจะเข้ามาปกครองฟิลิปปินส์ สังคมแบบฟิลิปปินส์เดิมเป็นสังคมแบบบารังไก มีชนชั้นตาตูเป็นเจ้าของที่ดินในบารังไก ผลผลิตจากที่ดินครึ่งหนึ่งต้องเป็นของชนชั้นตาตู กลุ่มที่เป็นไพร่ในบารังไกเรียกอาลีปังนามามาไฮ เป็นชนชั้นที่อยู่ติดที่ดิน ต้องส่งส่วยไม่สามารถย้ายไปไหนได้ ส่วนชนชั้นทาสเรียกอาลีปังซากีกีลีร์ เป็นชนชั้นล่างสุด ไม่มีสิทธิในความเป็นมนุษย์

เมื่อสเปนเข้ามาปกครอง บารังไกจึงเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองตามกฎหมายของสเปน ตำแหน่งตาตูสิ้นสุดลง กลายเป็นตำแหน่งบริหารของสเปนที่ทำหน้าที่จัดการปกครองระดับภูมิภาค ส่วนการปกครองระดับท้องถิ่น สเปนให้หัวหน้าเดิมของบารังไกเข้ามาทำหน้าที่นี้ ทำให้สเปนสามารถควบคุมประชาชนได้ หัวหน้าเดิมของบารังไกได้กลายเป็นชนชั้นกาซีเก ซึ่งได้รับอภิสิทธิ์จากสเปน ไม่ต้องเสียภาษี และไม่ต้องเกณฑ์แรงงาน และยังเป็นผู้รวบรวมภาษีในท้องถิ่นส่งไปยังรัฐบาลกลางที่มะนิลาทำให้ชนชั้นกาซีเกสามารถขูดรีดภาษีจากชนพื้นเมืองด้วยกันได้ง่าย

ตั้งแต่ พ.ศ. 2329 สเปนได้เริ่มเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น แต่ผู้สมัครที่เป็นชาวฟิลิปปินส์ต้องสามารถอ่านเขียนและพูดภาษาสเปนได้ ทำให้เฉพาะชนชั้นกาซีเกเท่านั้นที่มีสิทธิลงรับเลือกตั้ง ชนชั้นนี้มีความใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่อาณานิคม พ่อค้าและบาทหลวงชาวสเปน กลุ่มนี้จึงรับวัฒนธรรมสเปนและดำเนินชีวิตแบบสเปนอย่างเต็มที่ อภิสิทธิ์ของชนชั้นกาซีเกหมดลงเมื่อสหรัฐเข้ามาปกครอง

อ้างอิง

[แก้]
  • สุพรรณี กาญจนัษฐิติ. กาซีเก, คาซิก. ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 2 อักษร C-D ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2547. หน้า 2-8