ยมกปกรณ์อรรถกถา
ยมกปกรณ์อรรถกถา เป็นคัมภีร์อธิบายยมกปกรณ์ ในพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งยมกปกรณ์นี้ว่าด้วยธรรมที่เป็นคู่ ประกอบด้วย
- มูลยมก คือ ธรรมเป็นคู่อันเป็นมูล
- ขันธยมก คือ ธรรมเป็นคู่ คือขันธ์
- อายตนะยมก คือ ธรรมเป็นคู่คือสังขาร
- ธาตุยมก คือ ธรรมเป็นคู่คือธาตุห้า
- สัจจยมก คือ ธรรมเป็นคู่คือสัจจะ
- สังขาร คือ ธรรมเป็นคู่คือสังขาร
- อนุสสัยยมก คือ ธรรมเป็นคู่คืออนุสัย (กิเลสอันนอนเนื่องด้วยในสันดาน)
- จิตตยมก คือ ธรรมเป็นคู่คือจิต
- ธัมมยมก คือ ธรรมเป็นคู่คือธรรม
- อินทรียยมก คือ ธรรมเป็นคู่คืออินทรีย์[1]
การจำแนกเป็นคู่ ๆ นี้ เป็นไปตามอำนาจของยมก หรือธรรมที่ถูกจำแนกเป็นคู่ ๆ ทั้ง 10 ประการ มีลักษณะเป็นการถามถึงลักษณะของธรรมหนึ่ง แล้วตอบด้วยธรรมที่มีลักษณะเป็นคู่กับธรรมนั้น ๆ ดังในอรรถกถาอธิบายว่า "ในยมกทั้ง 10 อย่างนี้ ยมกหนึ่ง ๆ ชื่อว่าคู่ เพราะแสดงไว้ด้วยอำนาจของยมกทั้งหลาย คือคู่ ด้วยประการฉะนี้ ปกรณ์นี้ทั้งหมด พึงทราบว่า ชื่อว่ายมก เพราะรวบรวมคู่ทั้งหลายเหล่านี้ไว้"[2]
ผู้เขียน
แก้ยมกปกรณ์อรรถกถา รจนาขึ้นโดยพระพุทธโฆสะ หรือ พระพุทธโฆษาจารย์ ดังปรากฏในนิคมคาถาว่า "ข้าพเจ้า (พระพุทธโฆษาจารย์) ปรารภอรรถกถาแห่งปกรณ์ยมกนั้น เพื่อแสดงวิธีกำหนดพระบาลีและนัยแห่งอรรถในคำปุจฉาวิสัชนา"[3] ซึ่งยมกปกรณ์อรรถกถา เป็นส่วนหนึ่งของปัญจปกรณัฏฐกถา หรือ อรรถกถาอธิบายปกรณ์ทั้ง 5 เล่มหลังของพระอภิธรรมปิฎก อย่างไรก็ตาาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญจปกรณัฏฐกถาอาจมีผู้แต่งและเพิ่มเติมตรวจทานร่วมกันหลายท่านในลักษณะเป็นคณะทำงานร่วมกัน [4]
เนื้อหา
แก้ยมกปกรณ์อรรถกถาเป็นการขยายความยมกปกรณ์ให้พิสดารยิ่งขึ้น โดยมีรูปแบบของการอธิบายศัพท์ และการถามตอบข้อธรรมที่มีความลึกซึ้ง เช่น การยกศัพท์ขึ้นมาอธิบายว่า "คำว่า อญฺญมญฺญมูลานิ จ (แปลว่า) เป็นมูลซึ่งกันและกันด้วย อธิบายว่า มูลทั้งหลายย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัย กะกันและกันโดยเป็นเหตุเป็นปัจจัย ในปฏิโลมปุจฉา ไม่ตรัสว่า สพฺเพ เต ธมฺมา กุสลมูเลน เอกมูลา (แปลว่า) ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดมีมูลเป็นอันเดียวกันกับกุศลมูล แต่ตรัสว่า สพฺเพ เต ธมฺมา กุสลา (แปลว่า) ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดเป็นกุศล" [5] ดังนี้เป็นต้น
หลังจากการยกศัพท์แล้ว อาจมีการตั้งบทปุจฉา-วิสัชชนา (ถามตอบ) ความนัยของศัพท์ที่มีความลึกซึ้งในทางธรรม เช่น จากที่ทรงตรัสว่า สพฺเพ เต ธมฺมา กุสลา (ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดเป็นกุศล) ผู้แต่งได้ตั้งคำถามต่อว่า "ถามว่า เพราะเหตุไร?" จากนั้นจึงตั้งคำตอบว่า "ตอบว่า เพราะไม่มีเนื้อความแปลกกัน ก็เมื่อจะทำการปุจฉาว่า กุสลมูเลน เอกมูลา (แปลว่า) มีมูลเป็นอันเดียวกันกับกุศลมูลหรือ ดังนี้ พึงทำการวิสัชชนาตามนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังว่า มูลานิ ยานิ เอกโต อุปฺปชฺชนติ (แปลว่า) มูลทั้งหลายเหล่าใดเกิดขึ้นคราวเดียวกัน ก็เมื่อความแปลกกันแห่งเนื้อความไม่มีอยู่ เหตุนั้น พระองค์จึงไม่ทรงกระทำการถามอย่างนั้น แต่ทรงกระทำการถามอย่างนี้แม้ในมูลนัย" [6] เป็นต้น
คัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง
แก้- ยมก หรือยมกปกรณ์ หรือมูลยมก ในพระอภิธรรมปิฎก [7]
- ยมกปกรณ์อรรถกถา หรือยมกอัฏฐกถา หรือปัญจปกรณัฏฐกถา พระพุทธโฆสะ รจนา [8]
- ยมกมูลฎีกา หรือปัญจปกรณืมูบฎีกา หรือ ปรมัตถปกาสินี หรือ ลีนัตถโชติกา ลีนัตถโชตนา และลีนัตถปทวัณณนา พระอานันทะ พระเถระสมัยศตวรรษที่ 6 หรือศตวรรษที่ 8 - 9 รจนา [9]
- ยมกอนุฎีกา หรือปัญจปกรณ์อนุฎีกา หรือลีนัตถวณณนา หรือลีนัตถปกาสินีอนุฎีกา หรืออภิธัมมอนุฎีกา พระจุลลธัมมปาล พระเถระสมัยศตวรรษที่ 6 หรือศตวรรษที่ 8 - 9 รจนา รจนา [10]
- ยมกวัณณนาฎีกา หรือยมกวัณณนา พระติโลกคุรุ เมืองสกายง์ รจนาเมื่อศตวรรษที่ 17 [11]
- ยมกโยชนา หรือยมกอัตถโยชนา พระญาณกิตติ เมืองเชียงใหม่ รจนาเมื่อศตวรรษที่ 15 [12]
อ้างอิง
แก้- ↑ สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน
- ↑ พระอภิธรรมปิฎก ยมก เล่ม ๕ ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 18ข
- ↑ พระอภิธรรมปิฎก ยมก เล่ม ๖ ภาค ๒ - หน้าที่ 1134
- ↑ Jason A. Carbine. (2011) หน้า 146 - 147
- ↑ พระอภิธรรมปิฎก ยมก เล่ม ๕ ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 50 - 51
- ↑ พระอภิธรรมปิฎก ยมก เล่ม ๕ ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 51
- ↑ Bhikkhu Nyanatusita (Compiler), R. Webb (Editor). (2012) หน้า 177
- ↑ Bhikkhu Nyanatusita (Compiler), R. Webb (Editor). (2012) หน้า 177
- ↑ Bhikkhu Nyanatusita (Compiler), R. Webb (Editor). (2012) หน้า 177
- ↑ Bhikkhu Nyanatusita (Compiler), R. Webb (Editor). (2012) หน้า 177
- ↑ Bhikkhu Nyanatusita (Compiler), R. Webb (Editor). (2012) หน้า 177
- ↑ Bhikkhu Nyanatusita (Compiler), R. Webb (Editor). (2012) หน้า 177
บรรณานุกรม
แก้- พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย, พระอภิธรรมปิฎก ยมก, ยมกปกรณ์อรรถกถา เล่ม ๖ ภาค ๒ - หน้าที่ 1134
- สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพฯ . กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.
- Jason A. Carbine. (2011). Sons of the Buddha: Continuities and Ruptures in a Burmese Monastic Tradition. Berlin. De Gruyter.
- Bhikkhu Nyanatusita (Compiler), R. Webb (Editor). (2012). An Analysis of the Pali Canon and a Reference Table of Pali Literature. Sri Lanka. Buddhist Publication Society.