ภาษาปรากฤต
ภาษาปรากฤต (อักษรโรมัน: Prakrit, /ˈprɑːkrɪt/; พราหมีตอนต้น 𑀧𑁆𑀭𑀸𑀓𑀾𑀢, prākṛta;[2] อักษรเทวนาครี สันสกฤต: प्राकृत, prākṛta; Shauraseni: 𑀧𑀸𑀉𑀤, pāuda; Jain Prakrit: pāua; กันนาดา: pāgada; ทมิฬ/เตลูกู: pāgadam) เป็นภาษาโบราณกลุ่มหนึ่งในอินเดียสมัยโบราณ จัดอยู่ในภาษากลุ่มอินโด-ยูโรเปียน (อินเดีย-ยุโรป)ในสาขาย่อย ภาษากลุ่มอินโด-อิเรเนียน (อินเดีย-อิหร่าน) โดยมากจะจัดเป็นภาษาที่มีวิวัฒนาการในกึ่งกลาง ระหว่างภาษาโบราณกับภาษาสมัยใหม่ ที่เรียก ภาษาปรากฤตนี้ ไม่ได้หมายจำเพาะไปที่ตัวภาษาหนึ่งภาษาใด แต่เป็นการเรียกภาษากลุ่มหนึ่งในระดับภาษาถิ่น และเป็นการยากที่จะระบุให้ชัดว่าภาษาปรากฤตคืออย่างไร และนักวิชาการด้านภาษาอินเดียก็ยังมีความเห็นไม่ลงรอยกัน บ้างก็ว่าหมายถึงภาษาถิ่นอินเดียยุคใหม่ รวมทั้งในยุคกลาง หรือกล่าวโดยย่อก็คือ ภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาสันสกฤตและภาษาพระเวท บ้างก็ว่าหมายถึงภาษาอินเดียยุคใหม่ ที่วิวัฒนาการมาจากภาษาปรากฤตยุคกลาง นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอว่า ภาษาปรากฤตคือภาษาถิ่นของภาษาสันสกฤต และยังมีความเห็นว่า ภาษาบาลี ก็อาจจัดอยู่ในกลุ่มภาษาปรากฤตก็ได้
ภาษาปรากฤต | |
---|---|
ภูมิภาค: | อนุทวีปอินเดีย |
การจําแนก ทางภาษาศาสตร์: | อินโด-ยูโรเปียน |
| |
ISO 639-2 / 5: | pra |
กลอตโตลอก: | None midd1350 (Middle Indo-Aryan)[1] |
หลักฐานภาษาปรากฤตที่เก่าแก่ที่สุด คือจารึกอโศก บนเสาอโศก ที่พระเจ้าอโศกมหาราชรับสั่งให้สร้างขึ้น โดยใช้อักษรพราหมี ทว่าไม่ปรากฏว่ามีการใช้ภาษาปรากฤตในงานวรรณกรรมอย่างกว้างขวาง แต่กลับมีการใช้ในรูปของภาษาพูด ดังจะพบได้จากบทละครภาษาสันสกฤต ที่ให้ตัวละครในวรรณะสูงพูดภาษาสันสกฤต ขณะที่วรรณะต่ำจะพูดภาษาปรากฤต หรือภาษาอปรภรัมศะ
คำว่า ปรากฤต ในภาษาสันสกฤต นั้น หมายถึง ธรรมชาติ ปกติ ดั้งเดิม หรือท้องถิ่น ฯลฯ นักภาษาศาสตร์จึงสันนิษฐานว่า ภาษาปรากฤต น่าจะหมายถึงภาษาที่มีวิวัฒนาการโดยธรรมชาติตามกระบวนการทางภาษา ซึ่งตรงข้ามกับภาษา สันสกฤต ที่หมายถึง ขัดเกลาแล้ว อันเป็นภาษาที่ได้รับการวางระเบียบกฎเกณฑ์โดยนักปราชญ์ ในแง่ของไวยากรณ์แล้ว ภาษาปรากฤตมีความซับซ้อนน้อยกว่าภาษาสันสกฤตอย่างมาก ไม่มีทวิพจน์ มีการกน้อยกว่า และมีการแจกกริยาที่ง่ายกว่า และคำศัพท์ทั้งหมดในภาษาปรากฤตก็มาจากต้นกำเนิดในภาษาอินเดียโบราณ
ภาษาอรรธมคธีเป็นรูปแบบโบราณของภาษามคธี ซึ่งใช้ในการเขียนเอกสารทางศาสนาเชน และมักเป็นตัวแทนของภาษาปรากฤต นักไวยากรณ์ของภาษาปรากฤตจะแสดงไวยากรณ์ของภาษาอรรธมคธีก่อน เพราะฉะนั้นในการเรียนภาษาปรากฤต มักจะเริ่มด้วยภาษาอรรธมคธี
วิวัฒนาการ
แก้ภาษาปรากฤตมีวิวัฒนาการ 3 ระยะด้วยกัน คือ
- 1.ภาษาปรากฤตโบราณ อยู่ช่วง พุทธศตวรรษที่ 2 – 3 ภาษาที่ในช่วงนี้คือ ภาษาบาลี, ภาษาในพระสูตรของศาสนาไชนะ (ศาสนาเชน), ภาษาในบทละครของอัศวโฆษ ซึ่งพบได้ในแถบเอเชียกลาง
- 2.ภาษาปรากฤตยุคกลาง ได้แก่ ภาษามหาราษฏรี, ภาษาเศารเสนีและภาษามคธี, ภาษาไปศาจี
- 3.ภาษาปรากฤตยุคกลาง เรียกอีกอย่างว่า ภาษาอปรภรัมศะ ใช้ในบทละคร ดังกล่าวมาข้างต้น
อ้างอิง
แก้- ↑ Nordhoff, Sebastian; Hammarström, Harald; Forkel, Robert; Haspelmath, Martin, บ.ก. (2013). "Middle Indo-Aryan". Glottolog 2.2. Leipzig: Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology.
- ↑ 2.0 2.1 Fleet, John Faithfull (1907). Corpus Inscriptionum Indicarum Vol 3 (1970) ac 4616. p. 153, Line 14 of the inscription.
บรรณานุกรม
แก้- Alfred C. Woolner (1928). Introduction to Prakrit (2 (reprint) ed.). Delhi: Motilal Banarsidass. ISBN 978-81-208-0189-9. สืบค้นเมื่อ 17 March 2011.
- Andrew Ollett (2017). Language of the Snakes: Prakrit, Sanskrit, and the Language Order of Premodern India. University of California Press. ISBN 978-0-520-29622-0.
- Madhav Deshpande (1993). Sanskrit & Prakrit, Sociolinguistic Issues. Motilal Banarsidass. ISBN 978-81-208-1136-2.
- Richard G. Salomon (1996). "Brahmi and Kharoshthi". ใน Peter T. Daniels; William Bright (บ.ก.). The World's Writing Systems. Oxford University Press. ISBN 978-0-19-507993-7.
- Satya Ranjan Banerjee (1977). The Eastern School of Prakrit Grammarians: A Linguistic Study. Vidyasagar Pustak Mandir.
- Muni Pranamyasagar (2013). Tirthankar Bhāvna. Vaishali: Prakrit Jainology and Ahimsa Research Institute. ISBN 978-93-81403-10-5.แม่แบบ:Verification needed
- Muni Pranamyasagar (2017). Paiya Shikha: A Learning book to Prakrit (PDF). Rewari, Haryana. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-02-22. สืบค้นเมื่อ 2022-02-22.
อ่านเพิ่ม
แก้- Pischel, R. Grammar of the Prakrit Languages. New York: Motilal Books, 1999.