พุดน้ำบุษย์
พุดน้ำบุษย์ | |
---|---|
ดอกพุดน้ำบุษย์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
หมวด: | Magnoliophyta |
ชั้น: | Magnoliopsida |
อันดับ: | Gentianales |
วงศ์: | Rubiaceae |
สกุล: | Gardenia |
สปีชีส์: | G. carinata |
ชื่อทวินาม | |
Gardenia carinata Wallich. |
พุดน้ำบุษย์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gardenia carinata Wallich.) เป็นดอกพุดชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันมาก เนื่องจากเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่สวยงาม ดอกมีกลิ่นหอมแรง ดอกบานอยู่ได้ราว 7 วัน เมื่อแรกแย้มบานเป็นสีออกขาวนวลส่งกลิ่นหอมมาก หอมไกล 2 - 3 เมตร เมื่อบานเข้าวันที่สองสีจะเริ่มออกเหลืองอ่อน ต่อมา ค่อยๆ เหลืองเข้มจนกระทั่งเข้มจัด ออกดอกตลอดทั้งปี กลิ่นหอมตลอดวันแต่จะหอมมากในตอนค่ำ น้ำบุษย์หมายถึงพลอยสีเหลืองหรือบุษราคัม เป็นคำเปรียบความงามของดอกไม้ชนิดนี้[1]
ลักษณะเฉพาะ
แก้- ลักษณะ: เป็นไม้พุ่มต้นเล็กหรือพุ่มเตี้ยสูงประมาณ 2 - 3 เมตร ทรงพุ่มแน่น แตกกิ่งต่ำเป็นสาขาจำนวนมากตามข้อของลำต้น ลำต้นแก่สีน้ำตาล กิ่งอ่อนเป็นสีเขียว
- ใบ: ลักษณะใบสวยงามเพราะใบมัน หน้าใบสีเขียวเข็ม หลังใบสีเขียวอ่อน เส้นกลางใบสีเทา เป็นลายเห็นเด่นชัดสวยงาม เรียงใบ เป็นคู่ตรงข้ามกัน ใบรูปรี กว้าง 5 เชนติเมตร ยาว 11 เซนติเมตร
- ดอก: ดอกเดี่ยวบริเวณซอกใบใกล้ปลายกิ่ง แรกบานดอกมีสีขาว เมื่อแก่เต็มที่จะกลายเป็นสีเหลืองเข้ม โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดสีเหลือง ความยาวของกลีบ ของกลีบดอก 2 เซนติเมตร มี 7-8 กลีบ คลายรูปช้อน ชูดอกอยู่บนก้าน มีกลิ่นหอมแรงในช่วงพลบค่ำ
- การดูแล: เติบโตได้ดีในดินร่วน ระบายน้ำได้ดี ชอบความชื้น เป็นไม้กลางแจ้งต้องการแสงแดดจัด ถ้าไม่สามารถหาแดดเต็มวันให้ได้ อาจเป็นแดดครึ่งวัน แดดช่วงเช้าหรือเย็นก็ได้ แสงแดดจะมีผลต่อการเจริญเติบโตและการออกดอก พุดน้ำบุษย์สามารถปลูกได้ทั้งแบบลงดินกลางแจ้ง หรือปลูกลงกระถางขนาดใหญ่ แต่ควรตั้งไว้ในที่มีแสงแดดส่องถึง หลังปลูกบำรุงดินด้วยปุ๋ยมูลสัตว์ประเภทขี้วัวขี้ควายแห้งโรยกลบฝังดินรอบโคน ต้นหรือรอบขอบกระถางปลูก 15 วันครั้ง รดน้ำให้พอชุ่มทั้งเช้าและเย็น
- การขยายพันธุ์: ใช้การตอนกิ่ง หรือเพาะเมล็ด
- ประโยชน์: มีความสวยงาม เหมาะปลูกเป็นไม้ประดับบ้านเรือน หรืออาคาร
อ้างอิง
แก้- ↑ รุ่งมณี เมฆโสภณ. ดอกไม้ในสวน (กรุงเทพมหานคร : บ้านพระอาทิตย์, 2557), หน้า 92.
- พุดน้ำบุษย์ เก็บถาวร 2008-08-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์